xs
xsm
sm
md
lg

เลือกชลบุรีนำร่องเคลื่อนนโยบายแก้ไขทำประมงผิด กม.หลัง EU เข้มงดซื้อสินค้า IUU

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา – กรมประมง จับมือร่วมกรมเจ้าท่า และกรมการปกครอง เดินหน้านโยบายแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) หลังสหภาพยุโรปกำหนดนโยบายเข้มไม่รับซื้อสินค้าละเมิดกฎ หวั่นทำไทยสูญรายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยเลือกให้จังหวัดชลบุรี เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดโครงการศูนย์บริการเคลื่อนที่เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมเปิดโอกาสให้ชาวประมงขึ้นทะเบียนเรือ และขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง


เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (12 ม.ค.) กรมประมง ได้จับมือร่วมกับกรมเจ้าท่า และกรมการปกครอง จัดโครงการศูนย์บริการเคลื่อนที่เพื่อขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU (Illegal Unreported and Unregulated) ที่บริเวณหาดวอนนภา ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายอย่างเป็นระบบ รองรับกฎระเบียบที่สหภาพยุโรปได้เสนอแนะ หลังมีการตรวจประเมินผลการปฏิบัติในการป้องกัน สกัดกั้นและยับยั้งการทำประมง IUU ของไทยว่าจะต้องมีการดำเนินการในเรื่องกฎหมายประมง และกำหนดแผนระดับชาติในการป้องกัน สกัดกั้น และยับยั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ป้องกันไม่ให้สินค้า IUU เข้าสู่ระบบการค้า

โดยมี ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง ตัวแทนจากสำนักทะเบียนเรือ กรมเจ้าท่า และนายธีรวุฒิ ศิริวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ร่วมเปิดโครงการ พร้อมมอบใบอาชญาบัตรให้แก่ชาวประมงที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง

ดร.จุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า การจัดโครงการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมของ F.A.O. ที่มีขึ้นตั้งแต่ปี 2001 ที่ได้ทำข้อตกลงในที่ประชุมว่าจะวางมาตรการดำเนินการป้องกัน สกัดกั้น และยับยั้งการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือการทำประมงแบบ IUU และต่อมา ได้มีการออกกฎหมายกำหนดให้ประเทศที่มีการส่งสินค้าที่ได้จากการทำประมงทะเล จะต้องมีใบรับรองว่าผลผลิตของสินค้านั้นๆ ไม่ได้มาจากการทำประมงแบบ IUU รวมทั้งต้องมีกระบวนการในการตรวจสอบ และย้อนกลับได้ จึงทำให้ประเทศไทยต้องเร่งวางมาตรการรองรับในหัวข้อสำคัญต่างๆ

โดยในการปรับปรุง และแก้ไขกฎหมายการทำประมงที่ขาดการรายงานนั้น กรมประมง ได้กำหนดให้เจ้าของเรือประมงต้องขออนุญาตใช้เรือ และมีการขึ้นทะเบียนเรือต่อกรมเจ้าท่า เพื่อเขียนเป็นบันทึกการทำประมงที่ต้องมีการรายงาน และตรวจสอบได้ ส่วนการป้องกันแก้ไข ควบคุม เฝ้าระวังตรวจตราการทำประมงที่ผิดกฎหมายนั้น หน่วยงานตรวจสอบของกรมประมงจะเป็นผู้ดูแลให้เรือประมง โดยเฉพาะเรือขนาดใหญ่ติดตั้งอุปกรณ์ในการติดตามเรือ หรือ VMC

“วันนี้เป็นกระบวนการดำเนินการเพื่อรองรับกฎระเบียบที่ทางสหภาพยุโรปได้เสนอแนะ เริ่มตั้งแต่ให้ชาวประมงที่มีเรือประมงติดเครื่องยนต์มาขึ้นทะเบียนต่อกรมเจ้าท่า รวมทั้งขอใบอนุญาตการใช้เรือ ขอใบอนุญาตการทำประมงหรือ อาชญาบัตร ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราต้องขอร้องให้ชาวประมงดำเนินการ นอกจากนั้น ยังขอให้ชาวประมงมาจดแจ้งเครื่องมือประมง เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าจะทำการประมงในชนิดใด ซึ่งทั้งหมดจะเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา รวมทั้งหาทางออกร่วมกันในกรณีที่เครื่องมือบางประเภทที่กำหนดไว้ไม่สามารถขอใบอาชญาบัตรได้ เช่น เรืออวนลาก เรืออวนลุน เรือที่ใช้เครื่องมือล้อมปลากระตักฯลฯ เพราะหากมีกระบวนการหรือสิ่งใดที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือได้ก็จะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ และสร้างความราบรื่นในการซื้อขาย และส่งสินค้าไปต่างประเทศ” อธิบดีกรมประมง กล่าว

ขณะที่ นายธีรวุฒิ ศิริวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า จังหวัดชลบุรีได้รับเกียรติให้เป็นจังหวัดนำร่องในการขับเคลื่อนนโยบายแก้ไขการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และควบคุม เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมองเห็นถึงความพร้อมในการดำเนินการของส่วนงานต่างๆ ในจังหวัด และในวันนี้ได้มีการจัดหน่วยรับลงทะเบียนเคลื่อนที่ตั้งแต่ 12 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งอธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงว่า หากประเทศไทยไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวก็อาจได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มของสหภาพยุโรป ที่จะกีดกันสินค้าประมงในประเทศที่มีการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งก็อาจทำให้ประเทศไทยเสียหายจากมาตรการดังกล่าวถึง 3 หมื่นล้านบาทต่อปี

“จังหวัดชลบุรี จะดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด โดยขอเชิญชวนชาวประมงในพื้นที่ให้เดินทางมาขึ้นทะเบียนเรือให้ถูกต้อง ซึ่งกรมเจ้าท่า จะรับจดทะเบียนจนถึงเวลาที่กำหนด และจากรายงานของประมงจังหวัดชลบุรีทราบว่า ขณะนี้จังหวัดชลบุรี มีเรือประมงรวมทั้งสิ้นประมาณ 1.8 พันลำ และผลจากการดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ได้เริ่มมาก่อนหน้า ทำให้ในวันนี้เหลือเรือประมงที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพียง 500 ลำเท่านั้น และคาดว่าเมื่อสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ จังหวัดชลบุรี จะสามารถขึ้นทะเบียนเรือประมงได้ครบตามจำนวน อย่างไรก็ดี จังหวัดจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนเรือ และขออนุญาตทำการประมงมาขึ้นทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติต่อไป” นายธีรวุฒิ กล่าว

เช่นเดียวกับตัวแทนจากสำนักทะเบียนเรือ กรมเจ้าท่า ที่เผยถึงการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม ว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา กรมเจ้าท่าได้ดำเนินการดูแลเรื่องการจดทะเบียนเรือ และการจัดระเบียบเรือประมงให้เข้าสู่ระบบโดยได้รับความร่วมมือจากกรมประมงมาตลอดจนทำให้สามารถจดทะเบียนเรือได้แล้วกว่า 2.6 หมื่นลำ

อย่างไรก็ดี ปัญหาที่พบในขณะนี้คือ ชาวประมงไม่มีเวลาเดินทางไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินการให้เข้าสู่ระบบ จึงทำให้กรมเจ้าท่า ร่วมกับกรมประมง และกรมการปกครอง จัดบริการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้บริการจดทะเบียนเรือ ออกใบอนุญาตใช้เรือ และออกประกาศนียบัตรควบคุมเรือ ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันออกหน่วยเคลื่อนที่ทั่วประเทศ ตามแผนปฏิบัติการที่เสนอต่อรัฐบาลให้แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ให้ได้ 112 อำเภอ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ชาวประมงทั่วประเทศ



กำลังโหลดความคิดเห็น