ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่นโชว์ผลงานไก่ไทย KKU 50 “แก่นทอง สร้อยนิล สร้อยเพชร ไข่มุกอีสาน” 4 สายพันธุ์แท้ใหม่ในวาระครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 50 ปีคณะเกษตรศาสตร์ ชูจุดเด่น เลี้ยงง่าย โตไว ต้นทุนต่ำ ทนต่อสภาวะแวดล้อม ทั้งไก่พันธุ์ไข่ และพันธุ์เนื้อ ขณะที่ตลาดในประเทศและต่างประเทศต้องการสูง พร้อมส่งเสริมเกษตรกรทำฟาร์มผลิตลูกไก่ กระจายสู่การเลี้ยงอย่างรวดเร็ว
วันนี้ (12 ม.ค. 58) รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิจัยและพัฒนาด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ (ไก่พื้นเมือง) ร่วมกันแถลงข่าว “กำเนิดไก่พันธุ์ใหม่ 4 สายพันธุ์แท้” โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบริษัทตะนาวศรีไก่ไทย (ภาคเอกชน) เพื่อพัฒนาไก่พื้นเมือง KKU 50 4 สายพันธุ์ ได้แก่ “แก่นทอง สร้อยนิล สร้อยเพชร ไข่มุกอีสาน” ในวาระครบรอบ 50 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ 50 ปีของคณะเกษตรศาสตร์
รศ.ดร.มนชัย ดวงจินดา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ไก่พื้นเมือง เผยถึงการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ KKU 50 ว่า “ศูนย์เครือข่ายวิจัยด้านการปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ไก่พื้นเมือง มหาวิทยาลัยขอนแก่น” ได้ประกาศสายพันธุ์ไก่ที่พัฒนาขึ้น ก่อนหน้านี้ มีสองสายพันธุ์หลัก คือ ไก่ประดู่หางดำ มข.55 และไก่สายพันธุ์ชี KKU 10 ส่วนของไก่ไทย KKU 50 เป็นไก่สายพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้น และประกาศพันธุ์ในปี 2557 เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และครบรอบ 50 ปีของคณะเกษตรศาสตร์ด้วย
ไก่ไทย KKU 50 มีต้นกำเนิดมาจากไก่พื้นเมืองคือไก่ชีซึ่งมีขนสีขาว จากนั้นสร้างลูกผสมกับไก่ทางการค้า เมื่อได้ลูกผสมแล้วเราได้คัดเลือกพันธุ์ให้เป็นสายพันธุ์แท้ ปัจจุบันได้พัฒนาขึ้นมาอีก 4 สายพันธุ์แท้ ประกวดชื่อแล้ว ประกอบด้วย แก่นทอง สร้อยนิล สร้อยเพชร และไข่มุกอีสาน ทั้งหมดจะต่อท้ายด้วย KKU 50 ซึ่งในส่วนของ “แก่นทอง” จะมีสีน้ำตาลชัดเจน ความโดดเด่นคือเป็นไก่ที่ให้ไข่ดก โดยเฉลี่ยในหนึ่งปีให้ไข่กว่า 200 ฟอง เหมาะจะทำเป็นไก่เลี้ยงผลิตไข่
ส่วน “สร้อยเพชร” เป็นไก่ที่มีขนสีดำแต่มีสร้อยคอ แผงคอเป็นสีขาว มีลักษณะสวยงาม และโดดเด่นเรื่องการเจริญเติบโตและให้ไข่ดก เหมาะกับกลุ่มเกษตรกรที่อยากจะมีไก่เลี้ยงเพื่อเป็นเนื้อและผลิตไข่ ส่วน “สร้อยนิล” จะเป็นกลุ่มที่มีขนสีขาว มีสร้อยคอสีดำ มีความโดดเด่นสองด้านเช่นกัน คือสามารถเลี้ยงเอาเนื้อและเลี้ยงให้ไข่ก็ได้
รศ.ดร.มนชัยกล่าวต่อว่า ส่วนของความแตกต่างของกลุ่มสร้อยเพชร คือ เมื่อนำไปผสมพันธุ์กับไก่ทางการค้าใดๆ ก็ตาม จะได้ลักษณะเด่นที่มีขนสีดำกลับออกมา สามารถจะนำลูกผสมจากกลุ่มสร้อยเพชรไปตลาดชุมชนได้ เพราะคนทางภาคอีสานและภาคเหนือจะชอบไก่ที่มีขนสีดำ
ส่วนสายพันธุ์สุดท้ายคือ “ไข่มุกอีสาน” ลักษณะเด่นจะมีสีขาวปลอดตลอดทั้งตัว มีแข้งสีเหลือง ลักษณะสีสันจะคล้ายกับไก่ชี ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองแท้ แต่ไก่ไข่มุกอีสานจะเจริญเติบโตเร็วขึ้น ต้นทุนผลิตที่ต่ำลง และทนต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งในอนาคตจะผลิตไก่พื้นเมืองดังกล่าวเป็นไก่ไทยบอยเลอร์หรือไก่เนื้อไทย ในอนาคตจะมีศักยภาพส่งออกสู่ตลาดอาเซียนสูง
ขณะนี้ได้ส่งเสริมการผลิตให้เป็นฟาร์มผลิตและฟาร์มวิจัยให้แก่เกษตรกร โดยตั้งเป้าหมายผลิตสัปดาห์ละ 20,000 ตัว เพื่อให้สามารถกระจายได้ถึงปีละ 1,000,000 ตัว จะทำให้การขยายตลาดไก่บ้านหรือไก่พื้นเมืองเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
โดยลูกไก่พื้นเมืองราคาจำหน่ายที่ตัวละ 20-25 บาท เหมาะต่อเกษตรกรทั่วไปเพื่อนำไปเลี้ยง ส่วนการนำพ่อแม่พันธุ์ไปผสมพันธุ์เองก็สามารถทำได้ แต่ต้องให้ความรู้ก่อนเพื่อลดการกระจายผสมข้ามสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ ไก่พื้นเมืองกำลังถูกจัดเป็นอาหารสุขภาพ เนื่องจากมีคอเลสเตอรอลต่ำกว่าไก่เนื้อทั่วไป มีรสชาติอร่อยกว่า ไม่ต้องใส่ผงชูรส ทั้งการเลี้ยงค่อนข้างง่าย และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง เป็นที่ต้องการสำหรับผู้บริโภคในประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งประเทศมาเลเซีย และสิงคโปร์
ส่วนคุณภาพเนื้อที่มีลักษณะเหนียวนุ่มเล็กน้อยเป็นจุดเด่นเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคในประเทศญี่ปุ่น ประเทศอิสราเอล ซึ่งในอนาคตการเลี้ยงไก่พื้นเมืองไทยจะเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจ