xs
xsm
sm
md
lg

รุมทึ้งไม่หยุด! “เขาค้อ-ภูทับเบิก” พบนายหน้าเร่ขาย ภทบ.5-โฉนดปลอมว่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เพชรบูรณ์ - “เขาค้อ-ภูทับเบิก” ถูกรุมทึ้งไม่หยุด ล่าสุด พบกำนัน-ข้าราชการแสบ หอบ ภทบ.5 -โฉนดปลอม โฉนดที่ออกโดยมิชอบ เร่ขายนายทุนกันสนุกมือ จนมีรีสอร์ต-บ้านพักหรูโผล่ให้จับไม่หมด ไม่สิ้น แถมมีการนำโฉนดเจ้าปัญหาจำนองแบงก์แล้วไม่ต่ำกว่า 500 ล้าน ขณะที่ป่าไม้รับแค่นี้เด็กๆ ยังมีระดับบิ๊กอีกอื้อ

“นอนเขาค้อ 1 คืน อายุยืนหมื่นปี” เป็นสโลแกนส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อยอดให้ “สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย” จนทำให้ “เขาค้อ” เป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศที่ต้องการเดินทางไปสัมผัสมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่นั่นทำให้พื้นที่ “เขาค้อ” ตั้งแต่ ต.แคมป์สน อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ต่อเนื่องไปจนถึงอนุสรณ์วีรชนฯ-พระตำหนักเขาค้อ เป็นที่หมายปองของนักลงทุน ที่ดินที่เคยมีเพียงราษฎรอาสา (รอส.) ซึ่งได้รับการจัดสรรจากกองทัพภาคที่ 3 ให้เข้าครอบครองในลักษณะ “รัฐกันชน” ยุคสงครามคอมมิวนิสต์ ถูกกว้านซื้อเกลี้ยง นำมาซึ่งปัญหาการบุกรุกที่ดินเพิ่มเพื่อพัฒนาเป็นรีสอร์ต-ที่พักรองรับคลื่นนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปี

กระทั่ง 2-3 ปีก่อน เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานเคยตะลุยเข้าจับกุมรีสอร์ตหรูที่รุกป่าเขาค้อ มากถึง 54 แห่ง ก่อนตั้งแท่นฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งขณะนี้เรื่องยังอยู่ในชั้นอัยการ

ล่าสุด ปัญหาการบุกรุกที่ดินยังขยายตัวคลุมพื้นที่ “ภูทับเบิก-ภูโปด” พื้นที่ทางตอนเหนือของเขาค้อ ที่มีจุดเด่นพื้นๆ ที่ว่า “ภูทับเบิก” อยู่เหนือระดับน้ำทะเลอันสูงกว่าเขาค้อ และชมแหล่งเกษตรกรรม คือ ภูเขากะหล่ำปี ของชาวไทยภูเขามาเป็นจุดขาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามากางเต็นท์ สัมผัสอากาศหนาวช่วงไฮซีซันจนแน่นขนัด บ้างก็มีรีสอร์ต และบ้านพักรับรองไว้เพียบ จากเดิมที่มีแค่ภูเขากะหล่ำปลี

ที่ดินแถบนี้ถูกกำนันคนดังในพื้นที่ ร่วมมือกับข้าราชการบางหน่วย นำใบ ภทบ.5 หรือภาษีบำรุงท้องที่ หรือภาษีดอกหญ้า หรือภาษีเหยียบย่ำไร่ละ 5 บาท ใบเบิกทางลักษณะเทียบใบ น.ส.3-โฉนด เพื่อจับจองที่ดินตามสไตล์คนบ้านนอก ออกเร่ขายนายทุนกันอย่างสนุกมือ

จนทำให้ “ภูทับเบิก” เต็มไปด้วยรีสอร์ต-บ้านพักหรูตลอดเส้นทาง

4 ธ.ค.2557 กรมป่าไม้ ใช้จังหวะ คสช.กุมอำนาจการบริหาร จับมือกับ กอ.รมน.จังหวัดเพชรบูณ์ สนธิกำลังทหาร ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ออกปฏิบัติการทวงผืนป่าเพชรบูรณ์คืนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น เปิดฉากกวาดจับรีสอร์ตบุกรุกป่าภูโปด หมู่ที่ 6 ต.บ้านเนิน อ.หล่มเก่า ทางขึ้น “ภูทับเบิก”

ตามข้อร้องเรียนว่า พบทั้งนายทุน และกำนันผู้กว้างขวางสร้างรีสอร์ต-บ้านพักหรูหลายแห่ง เป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปต้องเลียนแบบเปิดป่าบุกเชิงเขา ก่อสร้างบ้านพัก

พบว่า รีสอร์ตหลายแห่งกำลังเร่งก่อสร้างที่พักไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวช่วงปีใหม่อันใกล้นี้อย่างอลังการ มีทั้งสระน้ำบนภูเขา ลานชมวิวเชิงผา ฯลฯ จนเจ้าหน้าที่จับกุมทั้งนายทุน ผู้ดูแล ผู้รับเหมา และคนงานก่อสร้างหลายสิบคน พร้อมยึดอุปกรณ์ก่อสร้างไว้เป็นของกลางอีกหลายสิบรายการ

ระหว่างจับกุม ผู้ครอบครองที่ดินบางรายนำเอกสารใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภทบ.5) ที่ออกโดย อบต.บ้านเนิน เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมามาแสดง ยันยันว่าซื้อที่ดินมาอย่างถูกต้อง ซึ่งก็ทำเอาเจ้าหน้าที่ อึ้งไปตามๆ กัน!!

เพราะกระทรวงมหาดไทย แจ้งให้ อปท.ยกเลิกการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่บนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิไปนานแล้ว แถมมีการเปลี่ยนมือครอบครองด้วย ซึ่งถือว่าผิดเงื่อนไขการครอบครองอยู่แล้ว


เบื้องต้น พ.อ.คงศักดิ์ เสนะวีระกุล หัวหน้ากลุ่มงานข่าว กอ.รมน.จังหวัดเพชรบูรณ์ และนายมานพ สายอุ่นใจ ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขาพิษณุโลก เดินหน้าจับรีสอร์ตบุกรุกป่าภูโปด ริมถนนทางขึ้นยอดภูทับเบิกแล้วรวม 18 แห่ง ในจำนวนนี้มีข้าราชการระดับสูงระดับปลัดอำเภอ และกำนันผู้กว้างขวาง ฯลฯ นายทุนเจ้าของกิจการ แจ้งข้อกล่าวหากระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ก่อนควบคุมตัวคนงานส่งให้พนักงานสอบสวน สภ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ดำเนินคดี พร้อมผู้ต้องหา 24 ราย

คือ 1.รีสอร์ตไม่มีชื่อ 2.ขนมจีนแม่คำมี 3.รีสอร์ตไม่มีชื่อ 4.ช้างทอง 5.ไร่เติมรัก 6.ริมธารรีสอร์ต 7.รีสอร์ตไม่มีชื่อ 8. รีสอร์ตไม่มีชื่อ 9.รีสอร์ตไม่มีชื่อ 10.เอนกาย 11.บ้านพักสายหมอก 12.ภูทองคำ 13. รีสอร์ตไม่มีชื่อ 14.ธ.ก.ส. 15.ข้างอิงฟ้า 16.อิงฟ้า 17.ทับเบิกวิลเลจ 18.รีสอร์ตไม่มีชื่อ

การลุยจับรีกสอร์ต-บ้านพักหรู บนทางขึ้นภูทับเบิกครั้งนี้ ทำเอานายทุนเจ้าของ 18 รีสอร์ต พากันยื่นหนังสือต่อกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้ว่า เจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ใส่ชุดสีดำ เป็นผู้ไปชี้แนวเขตยืนยันว่าอยู่นอกเขตป่า ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าที่ดินมีเอกสารสิทธิถูกต้องจึงไปก่อสร้างรีสอร์ต แต่กลับถูกป่าไม้จับกุมดำเนินคดี

นำมาซึ่งคำสั่ง ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 11 เด้ง!! นายสุริยะ สะอาดใส พนักงานพิทักษ์ป่า หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติเขาค้อ หน่วยน้ำเพียงดิน สังกัดกรมอุทยานฯ ที่ว่ากันว่า มีส่วนพัวพันต่อกำนันคนดังในพื้นที่ในการนำพื้นที่ป่าขายให้แก่นายทุน พร้อมเจ้าหน้าที่ฐานหนองแม่นา อีก 4 คน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าฐานหนองแม่นา ที่มีชื่อติดร่างแหถูกสั่งย้ายด้วยทั้ง 4 ราย ระบุว่า เป็นการทำงานสำรวจสิทธิถือครองทำกินของชาวบ้านไม่เกี่ยวข้องต่อการชี้แนวเขตป่า

นายอมร ต่อเจริญ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 11 พิษณุโลก ยืนยันว่า คำสั่งโยกย้ายนายสุริยะ สะอาดใส พนักงานพิทักษ์ป่า หัวหน้าหน่วยพิทักษ์ป่าอุทยานแห่งชาติเขาค้อ หน่วยน้ำเพียงดิน สังกัดสำนักฯ 11 กรมอุทยานฯ เป็นไปตามคำสั่งของอธิบดีกรมอุทยานฯ โดยสั่งย้ายไปลงจังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนว่า กระทำความผิดจริงหรือไม่ ก่อนพิจารณาลงโทษทางวินัยร้ายแรงถึงขั้นให้ออกจากราชการต่อไป

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรีสอร์ตบางรายที่อยู่ในระหว่างดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกที่ดินผืนป่า พ.ร.บ.ป่าไม้ปี 2484 ก็ยังเปิดให้บริการอยู่

นายมานพ กล่าวว่า ปฏิบัติการทวงผืนป่าเพชรบูรณ์ครั้งนี้ต้องจับกุมผู้บุกรุกป่า เฉพาะผู้เป็นนายทุนเท่านั้น ชาวบ้านที่ทำกินอยู่เดิมไม่เกี่ยว กรณีผู้นำท้องถิ่น หรือกำนันคนดัง ชื่อย่อ ก. ที่รุกป่าสร้างรีสอร์ตทางขึ้นภูทับเบิก ถือว่ายังเด็กๆ หากจะเปิดโปง และจับกุมผู้บุกรุกผืนป่า ทั้งภูทับเบิกและเขาค้อ ยังมีระดับบิ๊กกว่านั้นอีก

เพราะนอกจากผืนป่าเขาค้อ ที่เคยจับกุมรีสอร์ตไปแล้ว 54 แห่งช่วง 2-3 ปีก่อน ซึ่งเป็นคดีอยู่ในชั้นอัยการแล้ว ยังพบว่า มีผืนป่าบริเวณผาซ่อนแก้ว อ.เขาค้อ ถูกนำมาออกโฉนดไม่ต่ำกว่า 4-5 แปลงๆ ละ 40-50 ไร่ ถือว่าเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องดำเนินการรื้อทุกอย่างถ้าจำเป็น แม้ออกโฉนดครุฑเขียวอย่างถูกต้องก็ตาม

แต่เมื่อย้อนกลับไปดูภาพถ่ายดาวเทียมในอดีต ต้องถามว่า โฉนดออกมาได้อย่างไร ทั้งที่ที่ดินอยู่เชิงเขาที่มีความลาดชันเกินกว่า 30 องศา

“การรื้อตรวจครั้งนี้ เชื่อว่าผืนดินถิ่นรีสอร์ตอันหรูหราเชิงเขาค้อสะเทือนหมด เพราะโฉนดที่ดินที่ออกโดยเจ้าหน้าที่รัฐนำไปสู่การจำนองที่ธนาคารหมดแล้ว ประมาณ 200 ไร่ๆ ละประมาณ 3 ล้าน รวมมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท แต่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง หรือก่อสร้างรีสอร์ต ฉะนั้นคนของกรมป่าไม้จะต้องตัดไฟแต่ต้นลม ก่อนจะต้องมารื้อรีสอร์ตกันภายหลัง”

จากนิคมฯ สงเคราะห์ชาวเขา-ขุมทอง “ภูทับเบิก”

ผืนป่าภูทับเบิก ถือเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างนิคมสร้างตนเองสงเคราะห์ชาวเขา ตามมติ ครม.วันที่ 18 มกราคม 2509 กินพื้นที่ 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก, เลย, เพชรบูรณ์ รวมเนื้อที่ 470 ตางรางกิโลเมตร

ต่อมา ได้เกิดเหตุการณ์อุทกภัยน้ำก้อ-น้ำชุน ปี 2544 มีการสำรวจการถือครองของราษฎรชาวเขาตามความเป็นจริง ทำให้มีพื้นที่เหลือราว 1.3 แสนไร่ กรมประชาสงเคราะห์ จึงส่งพื้นที่คืนให้กรมป่าไม้ ก่อนยกให้กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จากนั้นประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขาค้อ จำนวน 60,000 ไร่ และกรมอุทยานฯ จัดงบประมาณปลูกป่าแล้ว 39,243 ไร่ตามมติ ครม.14 ต.ค.2546 ฟื้นฟูพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำก้อ-น้ำชุน ทำให้ผืนดินที่เหลืออยู่ 70,000 ไร่ ที่ไม่ใช่ทั้งพื้นที่ป่าสงวนฯ และอุทยานฯ ยังเต็มไปด้วยซับซ้อน และมีราษฎรทำกินอยู่จำนวนมาก

เมื่อ 25 ต.ค. 2556 ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 11 (พิษณุโลก) ยุคนั้น ได้ระดมพลเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ 260 คน ลงสแกนพื้นที่เสี่ยงภัยลุ่มน้ำก้อ-น้ำชุน 1.3 หมื่นไร่ เพื่อพิสูจน์สิทธิชาวบ้าน 7 หมู่บ้านว่า มีชาวบ้านทำกินในเขตป่า และ อช.เขาค้อ ก่อนหรือหลังประกาศเขตจำนวนเท่าใดกันแน่ เพราะขณะนั้นพบนายทุนบุกรุกพยามออกโฉนด 2,133 ไร่

แต่แม้จะมีการการพิสูจน์สิทธิเสร็จกลับไม่มีการดำเนินการอย่างใดต่อ ทำให้เกิดการบุกรุกยึดครอง และซื้อขายเปลี่ยนมืออยู่เรื่อยๆ มีการลงทุนทำธุรกิจรีสอร์ตที่พัก ร้านอาหาร และลานกางเต็นท์อย่างต่อเนื่อง

โดยมีการประกาศขายเอกสาร ภทบ.5 ที่ดินอยู่นอกเขตป่า ในราคาไร่ละ 30,000 บาท ส่วนที่ดินที่มีโฉนดซื้อขายไร่ละ 3 ล้านบาทขึ้นไป

บรรดาผู้ครอบครองที่ดินแล้วต้องออกโฉนดให้ได้ ใครมีสายข้าราชการ หรือนักการเมือง ก็ต้องไปวิ่งหาเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกรมที่ดินออกเอกสารสิทธิให้ ซึ่งมีทั้งโฉนดปลอม โฉนดที่ออกโดยมิชอบ เพื่อขายต่อให้นายทุนคนกรุงเทพฯ สร้างรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศสุดหรูต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น