xs
xsm
sm
md
lg

“ทุ่งดอกไม้ป่าน้ำตกผาหลวง”...อุบลฯมุมใหม่ งามโดนใจ มันใหญ่มาก!!!/ปิ่น บุตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี

โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com) เฟซบุ๊ก Travel-Unlimited-เที่ยวถึงไหนถึงกัน

ทุ่งดอกไม้ป่าน้ำตกผาหลวง แหล่งท่องเที่ยวใหม่เมืองอุบลฯ
สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “ดอกไม้ป่า”(บนพลาญหิน) อย่าง ดุสิตา สร้อยสุวรรณา ทิพเกสร มณีเทวา นั้น ยามเมื่อมันออกดอกชูช่อเล็กๆ 2-3 ดอก

มันคือความงามเล็กๆ ให้คนรักถนอมบุปผาได้สอดส่ายสายตาชื่นชมในความงาม

มันคือความงามเล็กๆ ให้ช่างภาพผู้นิยมถ่ายมาโครได้วาดเลนส์ไปส่องดึงขยายความงาม

มันคือความเล็กๆ ที่แม้จะยากต่อการเซลฟีแต่ก็มีสาวๆ หลายคนพยายาม

มวลมหาดอกไม้ป่าบนลานหินที่บานเต็มท้องทุ่งบนลานหินยอดภูหลวง
แต่ครั้นเมื่อความงามเล็กๆ ของดอกไม้ป่าเหล่านี้มาอยู่รวมกันแล้วพร้อมใจกันออกดอกเบ่งบานสะพรั่ง นับหมื่น นับแสน หรือนับล้านๆ ดอก

มันแปรเปลี่ยนไปกลายเป็นความงามแห่งทุ่งดอกไม้ป่าอันตระการตา น่าตื่นตาตื่นใจ และน่าหลงใหลในความเพริศแพร้วกระไรปานนั้น...

มณีเทวาเริงร่า
1...

สำหรับหนึ่งในจังหวัดที่ขึ้นชื่อด้านการชมทุ่งดอกไม้ป่าบานบนพลาญหินหรือลานหินก็คือ“อุบลราชธานี” ซึ่งเดิมนั้นเมืองดอกบัวงามมีไฮไลต์แหล่งชมทุ่งดอกไม้ป่าอันเลื่องชื่ออยู่ที่บริเวณน้ำตกสร้อยสวรรค์ ในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ขณะที่จุดชมทุ่งดอกไม้ป่าน่าสนใจจุดอื่นๆ ในอุบลฯก็อย่างเช่น ป่าดงนาทาม(อช.ผาแต้ม) พลาญป่าชาด(อช.ภูจองนายอย) ภูหินด่าง(อช.ภูจองนายอย) ภูสมุย เป็นต้น

ทุ่งดอกไม้กับก้อนหิน
นอกจากนี้ในอุบลยังมีจุดชมทุ่งดอกไม้จุดใหม่ๆ อีกบางส่วนที่นักท่องเที่ยวต่างถิ่นอาจไม่รู้จัก(หรือแม้แต่คนอุบลเองก็ยังไม่คุ้นหู) แต่กลับเป็นที่รู้จักกันดีเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้นิยมถ่ายภาพ (ในอุบล) ที่เมื่อไปเห็นทุ่งดอกไม้งามแล้วไม่ได้เก็บไว้ดูคนเดียว แต่หากเลือกเก็บภาพสวยๆ นำกลับมาเผยแพร่ต่อผ่านโลกออนไลน์

ส่งผลให้จุดชมทุ่งดอกไม้แห่งใหม่ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น ดังเช่น แหล่งชมทุ่งดอกไม้ป่า “วนอุทยานน้ำตกผาหลวง” ที่ตัวผมเมื่อได้ไปเห็นกับตาแล้วถึงกลับอึ้งและทึ่งในสิ่งที่ธรรมชาติสรรค์สร้าง

ดอกไม้ต่างชนิดพันธุ์ แต่อยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนสวยงาม
2...

วนอุทยานฯน้ำตกผาหลวง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ในพื้นที่บ้านนาเลิน ต.นาเลิน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี ที่มีเนื้อที่ประมาณ 10,375 ไร่ มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาติดต่อกัน

ชื่อวนอุทยานฯนั้นเป็นชื่อเดียวกับ “น้ำตกผาหลวง”(ภาษาถิ่นเรียกว่า “น้ำตกผาแซ”) น้ำตกที่มีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษ เนื่องจากมีถ้ำอยู่ด้านใต้ของสายน้ำตกที่ไหลผ่าน(ปิดบังปากถ้ำไว้) เป็นม่านน้ำแผ่สยายกว้าง มีสูงประมาณ 20 เมตร สามารถมองเห็นได้ในระยะไกล

น้ำตกผาหลวง (ภาพ อบต.นาเลิน)
อย่างไรก็ดี น้ำตกผาหลวงก็เป็นเช่นเดียวกับน้ำตกหลายๆ แห่งในภาคอีสาน ที่จะมีปริมาณน้ำมากดูสวยงามเฉพาะในช่วงหน้าฝนเท่านั้น แต่ครั้นเมื่อพอถึงหน้าแล้งสายน้ำตกก็จะเหือดแห้งหายไป รอฤดูฝนถัดไปมาเยือนสายน้ำจึงจะกับมาพรั่งพรูสวยงามอีกครั้ง

ทุกๆ ปีในช่วงปลายฝนต้นหนาว หลังสายน้ำตกผาหลวงค่อยๆ เหือดแห้งงวดสายลง มวลหมู่ดอกไม้ป่าดอกเล็กดอกน้อยบนพลาญหินอันกว้างใหญ่บนยอดภูหลวง ก็จะค่อยๆ ผลิดอกเบ่งบานเริงร่ารับลมหนาว เกิดเป็นทุ่งดอกไม้ป่าขนาดใหญ่(มาก) อันสวยงามตระการตา ซึ่งล่าสุดทาง “ททท. อุบลฯ” ได้จับมือชาวชุมชน อบต.นาเลิน และป่าไม้ ช่วยกันส่งเสริมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอุบลราชธานี

ผสมผสานเป็นหนึ่งเดียว
ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวชุมชนได้มองเห็นความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติในท้องที่(จากเดิมที่เห็นจนชินตาแต่ไม่ได้ใส่ใจ) แล้วหันมาช่วยกันอนุรักษ์ดูแลรักษา เพื่อให้ดำรงคงอยู่โดยมีผลพลอยได้คือคุณค่าและมูลค่าทางการท่องเที่ยวที่ตามมา

3…

หลังรับรู้เป็นเลาๆ ว่าที่วนอุทยานน้ำตกผาหลวง มีสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่คือทุ่งดอกไม้ป่าแสนงาม ผมและคณะก็เลือกหาวันเหมาะๆ ที่ทุ่งดอกไม้ยังไม่โรยราเดินทางสู่บ้านนาเลินเพื่อไปชมทุ่งดอกไม้ป่าบนลานหินที่ได้รับฟังจากคนที่เคยไปมาแล้วว่า “มันใหญ่มาก”

รอยทางในหมู่ดอกไม้
เมื่อมาถึงยังบ้านนาเลิน ทาง อบต.บ้านนาเลินและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่ติดต่อประสานงานให้มาช่วยนำทางให้ข้อมูลก็ได้ออกมาต้อนรับ ก่อนจะไม่รีรอออกเดินทางขึ้นเขากันในทันที เพราะถ้าขืนชักช้ากว่านี้แดดจะร้อนเปรี้ยง

จากบ้านนาเลินเราเดินทางประมาณ 1 กม. ก็มาถึงยังที่ทำการวนอุทยานน้ำตกผาหลวง จุดเริ่มต้นของการเดินขึ้นไปชมทุ่งดอกไม้บนยอดภูหลวง ณ บริเวณเสาเฉลียง มีระยะทางประมาณ 2 กม. ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 นาที บนเส้นทางเดินผ่านป่าโปร่งที่ไม่โหด แต่ก็ทำเอาผมถึงกับ “หอบ” เหงื่อแตกพลั่ก เพราะทางบางช่วงต้องเดินขึ้นเขาชันพอตัว (ในเส้นทางนี้มีทางแยกไปน้ำตกผาหลวง น้ำตกรากไทร ที่จะสวยงามในช่วงหน้าฝน แต่ช่วงที่ผมไปน้ำน้อยมากไม่ต่างจากคนมาเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้เราจึงเลยผ่านไป)

ทางเดินขึ้นสู่ยอดภูหลวง
ในช่วงท้ายๆ ก่อนจะถึงยอดภูมีจุดพักเล็กๆกับจุด“หยดทิพย์” ซึ่งมีลักษณะเป็นแนวธารน้ำหยดผ่านหิน รากไม้ ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถใช้ดื่มกิน ล้างหน้าหน้าตา หลังจากที่เดินมาเหนื่อยๆ ได้ชะงัดนัก

แล้วจากนั้นอีกสักพักเราก็ขึ้นมาถึงยังลานยอดเขา พบกับป้ายบอกทางไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าบนยอดภูนี้จะมีแหล่งท่องเที่ยวอยู่เป็นจำนวนมาก

บนยอดภูหลวงมีที่เที่ยวหลายจุดให้เลือกเที่ยว
พี่เจ๋ง -ภาพิสันต์ สาระคำ หัวหน้าสำนักปลัด อบต.นาเลิน ที่มาร่วมคณะพาเดินเที่ยว บอกกับผมว่า บนนี้หากเดินเที่ยวกันจริงๆ แบบเก็บทุกจุดท่องเที่ยวคงต้องใช้เวลาเป็นวันหรือมากกว่านั้น ซึ่งบนยอดภูแห่งนี้ผู้ที่รักธรรมชาติสามารถติดต่อขอมานอนกางเต็นท์ดูดอกไม้ ดูดาว สัมผัสธรรมชาติอย่างใกล้ชิดได้

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ในทริปนี้เรามุ่งเป้าไปที่การเที่ยวชมทุ่งดอกไม้ จึงไม่ได้เตรียมอุปกรณ์ค้างแรมมา จึงขอติดไว้ว่า หากมีโอกาสจะกลับขึ้นไปซ้ำบนยอดภูหลวงอีกครั้ง

พื้นที่บนยอดภูหลวงมีลักษณะเป็นลานหินกว้างใหญ่
สำหรับบนยอดภูหลวงนั้น มีระดับความสูง 300 กว่าเมตร ถึงเกือบ 400 เมตร(390 กว่าเมตร) มีลักษณะพื้นที่เป็นลานหินกว้างใหญ่ เมื่อเดินไปสักพักผมเริ่มพบกับดงดอกไม้ป่าขึ้นเป็นแปลงเล็กๆ เป็นหย่อมๆ อันเป็นการทักทายแบบซอฟต์ เวลคัม ก่อนที่พวกเราจะเดินไปดูของจริงกันยังแปลงไฮไลต์ที่“ทุ่งดอกหญ้า” หรือที่พวกพี่ๆ ที่นำทางบางคนเรียกขานมันว่า “ทุ่งใหญ่”

บริเวณไฮไลต์ ณ ทุ่งดอกไม้ (ทุ่งใหญ่)
ทุ่งดอกหญ้า(ทุ่งใหญ่) เป็นทุ่งดอกไม้ป่าบนพลาญหินที่มีขนาดใหญ่มาก(สำหรับเมืองไทย) มีเนื้อที่บานแปลงเดียวประมาณ 4-5 ไร่ โดยเหล่ามวลมหาดอกไม้ป่าดอกเล็กดอกน้อยที่พร้อมใจกันออกดอกเบ่งบาน ณ ลานทุ่งใหญ่(และแปลงอื่นๆ)บนยอดภูหลวงนั้น ส่วนใหญ่เป็นพวกกลุ่มพืชกินแมลงนำโดย 5 พันธุ์ดอกไม้ป่าพระราชทานจากพระราชินี ได้แก่

-ดุสิตา(หญ้าข้าวก่ำน้อย, หญ้านกขาบ) สีม่วงเข้ม
-สร้อยสุวรรณา(หญ้าสีทอง) สีเหลืองเข้ม
-มณีเทวา(กระดุมเงิน, หญ้าหัวหงอก, หญ้าผมหงอก, จุกนกยูง, หญ้าดอกขาว) สีขาวนวล
-สรัสจันทร(หญ้าหนวดเสือ, กล้วยมือนาง) สีม่วงอ่อนแกมน้ำเงิน
-ทิพเกสร(หญ้าฝอยเล็ก) สีชมพูอมม่วงอ่อน

สร้อยสุวรรณ บานสะพรั่งสีเหลืองสดใส
นอกจากกลุ่มดอกไม้พระราชทานแล้ว บนนี้ก็ยังมีกลุ่มพืชน่าสนใจ อย่างเช่น จอกบ่วาย(หยาดน้ำค้าง), หญ้าน้ำค้าง(บางพื้นที่เรียกหยาดน้ำค้าง), หญ้าหมู่ดาว, กระดุมทอง, เอนอ้า, โคลงเคลง, แก้มอ้น(อ้นแดง) รวมถึงพวกกล้วยไม้ในกลุ่มช้างน้าว สิงโต เป็นต้น

พี่เจ๋งบอกกับผมว่าช่วงก่อนหน้าที่ผมไปนั้น สร้อยสุวรรณาจะบานเป็นนางเอกย้อมพื้นที่ทุ่งเป็นสีเหลืองอร่ามสดใส แต่ในช่วงที่ผมไปสร้อยสุวรรณาเริ่มโรย แต่ดอกทิพเกสรกลับสุดคึกพากันบานสะพรั่งย้อมพื้นที่บางช่วงเป็นสีชมพูอ่อนดูเนียนตา อีกทั้งยังเป็นดอกทิพเกสรที่มีขนาดใหญ่ประมาณน้องๆ เหรียญบาท ขณะที่ดอกทิพเกสรที่มีรูปร่างคล้ายนกบินของที่อื่นเท่าที่ผมเคยเห็นจะมีขนาดเล็กจิ๋ว ราวๆ น้องเหรียญสลึงเท่านั้น

ทิพเกสรบานนวลตา
ในบริเวณใกล้ๆ กับทุ่งดอกหญ้า(ทุ่งใหญ่) ยังมีพวกแปลงดอกไม้อินดี้จำพวกสร้อยสุวรรณา ดุสิตา มณีเทวา ที่แยกตัวออกมาออกดอกเป็นกลุ่มเป็นแปลงย่อมๆ ขึ้นอยู่ใกล้ๆ กับทุ่งดอกหญ้า(ทุ่งใหญ่) ซึ่งหนึ่งในนั้นมีแปลงหนึ่งพิเศษมาก เพราะเป็นแปลงที่มีดอกไม้ 3 ชนิด เบ่งบานเป็นหย่อมใหญ่ๆ ซ้อนอยู่ในแปลงเดียวกัน คือ แปลงทิพเกสรกับดุสิตา และแปลงสร้อยสุวรรณา เกิดเป็นแปลงดอกไม้สลับสี ระหว่างชมพู-ม่วง จากทิพเกสร ดุสิตา แทรกด้วยสีเหลืองเข้มของ สร้อยสุวรรณา ดูสวยงามน่าประทับใจเป็นอย่างยิ่ง

ทุ่งดอกไม้สลับสี
สำหรับทุ่งดอกไม้ป่าที่นี่หากเปรียบกับทุ่งที่น้ำตกสร้อยสวรรค์ผาแต้ม พื้นที่ทุ่งดอกไม้ป่าที่ผาแต้มโดยรวมอาจจะมีพื้นที่มากกว่า แต่ว่าทุ่งดอกไม้ที่ผาแต้มจะบานไล่เป็นแปลงๆ ไป แต่สำหรับทุ่งดอกไม้ที่ทุ่งใหญ่นี้ มันจะพร้อมใจออกดอกกันเบ่งบานนับหมื่นนับแสนดอกพร้อมๆกันเป็นแปลงใหญ่แปลงเดียว ดูแล้วเห็นได้ชัดว่ามันมีเนื้อที่กว้างใหญ่กว่า (การบานเป็นแปลงๆ) ของที่ผาแต้มอยู่พอตัว

อนึ่งเท่าที่ผมเคยเห็นทุ่งดอกไม้ป่า(ประเภทนี้) บานบนพลาญหินในเมืองไทย ที่นี่นับว่ากว้างใหญ่ที่สุด เพียงแต่ว่าเราก็ต้องไปให้ถูกช่วงจังหวะเวลาที่มันพร้อมใจกันออกดอกเบ่งบานเต็มที่ด้วย

หญ้าน้ำค้าง
4...

บนยอดภูหลวงนอกจากทุ่งดอกไม้ป่าแสนงามแล้วก็ยังมีลานหินและกลุ่มหินจำพวกเสาเฉลียงรูปร่างแปลกตาอยู่ยอดภูให้เที่ยวชม ทัศนาในรูปร่างอันแปลกตาชวนจินตนาการ จากผลงานที่ธรรมชาติสรรสร้างกัน อาทิ เสาเฉลียงโบกนกยูง ลานหินเต่า ลานจระเข้ เสาเฉลียงใหญ่ รวมถึง “หม้อหินผาหลวง” บริเวณผาหม้อ ที่เป็นลานหินกว้างขนาดใหญ่ริมผา มองลงไปเบื้องล่างเห็นวิวทิวทัศน์ของ อ.ศรีเมืองใหม่ ได้อย่างสวยงามกว้างไกล

เสาเฉลียงโบกนกยูง
นอกจากนี้ที่ผาหม้อยังมีเสาเฉลียงตั้งโดดเด่นอยู่ริมผาด้านหนึ่ง บนนั้นมีธงชาติไทยปักอยู่ นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์กันได้ แต่ก็ต้องไม่ประมาทและจงระมัดระวังตัวให้ดี โดยเฉพาะกับจุดชมวิวที่เป็นชะง่อนหินแหลมยื่นออกมาจากเสาเฉลียงนั้น มันมีทั้งความสวยงามที่น่ายืนนั่งถ่ายรูป มีทั้งความหวาดเสียว และมีอันตรายอยู่ในที เพราะหากไม่ระมัดระวังพลาดพลั้งตกลงไปสภาพคงไม่น่าดูเท่าไหร่

เสาเฉลียง หม้อหินผาหลวง
นี่ก็เป็นเสน่ห์แห่งธรรมชาติที่วนอุทยานน้ำตกผาหลวง ที่มีทั้งความชุ่มฉ่ำของสายน้ำตก ความแข็งแรงแกร่งกร้าวแปลกตาของประติมากรรมเสาเฉลียง-ผาหิน ที่สำคัญคือที่นี่มีทุ่งดอกไม้ป่าอันแสนงามบนเนื้อที่กว้างใหญ่

สำหรับผมแล้ว มนต์เสน่ห์ความงามของทุ่งดอกไม้ป่าแห่งน้ำตกผาหลวง มันไม่ได้เบ่งบานเฉพาะบนพลาญหินอย่างที่ปรากฏทางสายตาเท่านั้น

หากแต่มันยังเบ่งบานเข้าไปถึงหัวใจของเราอีกด้วย

*****************************************

ความงามจากธรรมชาติสรรสร้าง
สำหรับช่วงเวลาของการเที่ยวชมน้ำตกผาหลวงนั้นอยู่ในช่วงฤดูฝนถึงราวๆ เดือน ต.ค. ส่วนช่วงเวลาในการชมทุ่งดอกไม้ที่น้ำตกผาหลวงนั้นเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาวโดยจะบานยาวจนถึงช่วงกลางหนาว หรือประมาณเดือนตุลาคม - มกราคม โดยช่วงที่บานเต็มที่สวยงามที่สุดจะอยู่ในช่วงราวกลางเดือน พ.ย.-ต้น ธ.ค. แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในปีนั้นๆ



วนอุทยานน้ำตกผาหลวง ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น ในท้องที่บ้านนาเลิน ต.นาเลิน อ.ศรีเมืองใหม่ จ.อุบลราชธานี

การเดินทาง โดยรถยนต์ สามารถเดินทางได้ 2 เส้นทางคือ

1. จากจังหวัดอุบลราชธานี-ตระการพืชผล เลี้ยวขวาเข้าอำเภอศรีเมืองใหม่ ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยางและจากอำเภอศรีเมืองใหม่ถึงบ้านนาเลินประมาณ 19 กิโลเมตร เดินทางเข้าน้ำตกอีกประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 101 กิโลเมตร

2. จากจังหวัดอุบลราชธานี-พิบูลมังสาหาร ข้ามสะพานพิบูลมังสาหาร ตรงไปอำเภอศรีเมืองใหม่ เลี้ยวขวาเข้าอำเภอศรีเมืองใหม่-นาเลิน ประมาณ 19 กิโลเมตร เดินทางเข้าวนอุทยานน้ำตกผาหลวง อีกประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาณ 99 กิโลเมตร

ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์การบริหารส่วนตำบลนาเลิน โทร. 0-4525-2574, 08-5025-7165, 09-5620-5656, 08-3746-5536

สามารถสอบถามข้อมูลที่พัก ร้านอาหาร สินค้าโอทอป การเดินทาง และสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ใน จ.อุบลราชธานี เชื่อมโยงกับวนอุทยานน้ำตกผาหลวง ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานอุบลราชธานี โทร.0-4524-3770, 0-4525-0714
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น