ศูนย์ข่าวศรีราชา- 4 เทศบาล และ 1 อบต. ร่วมมือแก้ไขผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และภาวะมลพิษการขนส่งสินค้าบริเวณศรีราชา เกาะสีชัง เพื่อให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นลดน้อยลง หรือหมดไป
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักงานเทศบาลเมืองศรีราชา ชั้น 3 อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีคณะผู้บริหารจาก 4 เทศบาล ประกอบด้วย เทศบาลตำบลเกาะสีชัง เทศบาลเมืองศรีราชา เทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ เทศบาลตำบลบางพระ และองค์การบริหารส่วนตำบลบางพระ (อบต.) ซึ่งมีพื้นที่ติดชายทะเลได้ประชุมกัมกัน
ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษ กรณีการขนส่งสินค้าบริเวณทะเลอ่าวศรีราชา และเกาะสีชัง โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชุมชนต่างๆ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้
นายธานี รัตนานนท์ นายกเทศมนตรีเมืองศรีราชา กล่าวว่า สาเหตุที่มีการร่วมประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลที่เกิดขึ้นบริเวณเกาะสีชัง และศรีราชา ที่เป็นบริเวณท่าทอดสมอเรือตามธรรมชาติที่มีความสำคัญโดยการขนถ่ายสินค้า ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง ถ่านหิน ปุ๋ย โซดาแอส และปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลเป็นอย่างมาก เนื่องจากฝุ่นผงที่เกิดจากการขนถ่ายตกลงสู่ทะเล และสะสมเป็นเวลานานหลายสิบปี คุณภาพน้ำทะเลบริเวณชายฝั่งเริ่มเสีย ส่งผลเสียต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งในพื้นที่ดังกล่าว
นอกจากนั้น ฝุ่นผงขนาดเล็กสามารถฟุ้งกระจายไปยังชุมชนต่างๆ บริเวณเกาะสีชัง และศรีราชาบางส่วน ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศบริเวณโดยรอบโดยตรง และยังฟุ้งกระจายลอยไปตกตามบ้านเรือน และภาชนะใส่ของต่างๆ ที่สำคัญยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของระบบทางเดินหายใจของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบเกาะสีชัง และอ่าวศรีราชา โดยหากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหามลพิษทาอากาศจากการขนถ่ายสินค้าอาจจะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงต่อชุมชนได้
ด้าน ดร.สมภพ รุ่งสุภา หัวหน้าสถานีวิจัยวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกาะสีชัง กล่าวว่า จากการเข้ามาทำการวิเคราะห์ และวิจัยผลกระทบสิ่งแวดล้อมธรรมชาติใต้ทะเล พบว่า ระบบนิเวศมีการเสียสมดุล เกิดจากการสะสมตัวของสารที่มาจากฝุ่นละอองที่ตกลงสู่ทะเลเกิดการเน่าเสียของหน้าดิน ทำให้เกิดน้ำเน่า และส่งกลิ่นเหม็น และยังมีผลต่อสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บนหน้าดินลดน้อยลง ทำให้ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลง
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ทั้ง 4 เทศบาล และ 1 อบต. ต่างให้ความเห็นชอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว พร้อมเตรียมเรียบเรียงข้อมูลนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เพื่อนำบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด และนำเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มที่ เพื่อต้องการให้ปัญหาที่เกิดขึ้นลดน้อยลง หรือหมดไป