xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ฯ ดักจับนกอพยพจาก “ไซบีเรีย” เจาะเลือดป้องโรคที่มีนกเป็นพาหะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - คณะนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยิงตาข่ายดักจับนกหนีหนาวจากประเทศไซบีเรีย เพื่อติดห่วงขา ธงสี และเจาะเลือด ศึกษาป้องกันการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่มีนกเป็นพาหะ

วันนี้ (7 พ.ย.) นายไกรรัตน์ เอี่ยมอำไพ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมกับเจ้าหน้าที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าหลายจังหวัดทั่วประเทศ และนักศึกษาคณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวม 44 คน ได้ร่วมกันดำเนินการยิงตาข่ายดักจับนกหนีหนาวจากประเทศไซบีเรีย ที่อพยพหนีหนาวเข้ามาอาศัยอยู่ที่เกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกที่อุดมสมบูรณ์ และพบนกอพยพได้มากที่สุดในฝั่งทะเลอันดามัน ภายใต้โครงการป้องกันและควบคุมโรคอุบัติใหม่ในสัตว์ธรรมชาติ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อปี 2551

ทั้งนี้ จะมีการติดห่วงขาให้นกทุกตัว เพื่อติดตามเส้นทางการอพยพจากซีกโลกเหนือ ถึงซีกโลกใต้ว่า ผ่านประเทศใดบ้าง อีกทั้งยังมีการเจาะเลือด เพื่อป้องกันการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่มีนกเป็นพาหะ ซึ่งประเทศไทยจะใช้ห่วงขา และธงสีเขียว กับสีดำเป็นสัญลักษณ์ว่า บินผ่านทางฝั่งอันดามัน โดยทีมนักวิจัยดังกล่าวจะเดินทางลงมาที่เกาะลิบง ปีละ 2 ครั้ง คือ ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนที่มีนกอพยพหนีหนาวจากประเทศไซบีเรียมากที่สุด และในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นกกำลังจะบินกลับ โดยผ่านเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย จีน หรือรัสเซีย

นายไกรรัตน์ เอี่ยมอำไพ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ที่เกาะลิบง ส่วนใหญ่จะพบนกในตระกูลอีก๋อย นกหัวโตทราย และนกหัวโตขาดำ ซึ่งร้อยละ 50 จะเป็นนกกลุ่มเดิมที่เคยเดินทางมายังเกาะลิบง และปีนี้ยังพบนกจากฝั่งอันดามัน อพยพไปอาศัยอยู่ยังฝั่งอ่าวไทยตอนบนเป็นปีแรก


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น