xs
xsm
sm
md
lg

โปรดฟัง! นักวิจัยชี้ “เกาะเล็กๆ” นอกชายฝั่งยิ่งทำให้ “สึนามิ” มีอานุภาพรุนแรงขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – หมู่เกาะเล็กๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็น “ปราการธรรมชาติ” ที่ช่วยป้องกันคลื่นสึนามิ แท้ที่จริงกลับยิ่งทำให้คลื่นยักษ์มีอานุภาพรุนแรงขึ้นเมื่อซัดเข้าสู่ฝั่ง ผลการวิจัยเผยวันนี้(5)

ผลการศึกษาครั้งนี้นับว่ามีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะต่อชุมชนชายฝั่งทะเลหลายแห่งซึ่งอาจคิดว่าหมู่เกาะน้อยใหญ่ที่ตั้งเรียงรายอยู่รอบนอกจะเป็นกำแพงป้องกันคลื่นยักษ์ได้

โมเดลจำลองการเคลื่อนที่ของคลื่นแสดงให้เห็นว่า ชุมชนชายทะเลบางแห่งสุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะถูกทำลายโดยคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ อย่างเช่นที่เคยซัดถล่มชุมชนรอบมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 หรือสึนามิที่ซัดเข้าสู่ชายฝั่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นเมื่อปี 2011

เฟรเดริก ดิแอซ นักวิจัยจากศูนย์เพื่อการศึกษาคณิตศาสตร์และการนำไปประยุกต์ใช้ (CMLA) ในฝรั่งเศส ระบุว่า ผลวิเคราะห์โมเดลการเคลื่อนที่ของคลื่นด้วยระบบคอมพิวเตอร์รวม 200 ครั้ง ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียวที่ให้ข้อสรุปว่าเกาะเล็กซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งจะสามารถช่วยป้องกันหมู่บ้านชายทะเลที่อยู่ลึกเข้าไปได้ แต่กลับพบว่าเกาะปราการเหล่านี้ไปกระตุ้นให้พลังของคลื่นสึนามิ “เพิ่มขึ้นถึง 70%”

“เกาะเล็กๆ พวกนี้มักทำหน้าที่คล้ายเลนส์ ซึ่งทำให้พลังของคลื่นถูกรวมศูนย์” เขาอธิบาย

โมเดลที่ใช้ในการศึกษาได้จำลองเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป เช่น ลักษณะของเกาะ, ความลาดเอียงของชายหาด, ความลึกของน้ำ, ระยะทางระหว่างเกาะกับชายฝั่ง และความยาวของคลื่นสึนามิ

ดิแอซ เตือนว่า หมู่บ้านชายฝั่งทะเลของกรีซและอินโดนีเซียมีความเสี่ยงสูงที่สุดจากปรากฏการณ์ที่ผลวิจัยชิ้นนี้ค้นพบ

“ผลการศึกษาของเราอาจกระตุ้นให้ชาวบ้านตามชุมชนชายฝั่งที่มีเกาะปราการได้ตระหนักถึงอันตรายที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่ และทำให้หน่วยงานท้องถิ่นได้หันมาทบทวนมาตรการป้องกันความเสี่ยง”

งานวิจัยชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจจากนักวิทยาศาสตร์ที่สังเกตเห็นว่า ชายฝั่งเกาะสุมาตราได้รับความเสียหายหนักที่สุดจากเหตุการณ์สึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2004 แม้จะมีหมู่เกาะน้อยใหญ่เป็นปราการอยู่ก็ตาม

ในทำนองเดียวกัน สึนามิที่ซัดถล่มหมู่เกาะเมินตาไวนอกชายฝั่งเกาะสุมาตราเมื่อปี 2010 ก็ได้ก่อให้เกิดน้ำท่วมหนักที่สุดในพื้นที่ซึ่งถูกมองว่ามีความเสี่ยงน้อยที่สุด นั่นก็คือชายฝั่งที่มีเกาะเล็กๆ ล้อมรอบ

ผลวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ลงวารสาร Proceedings of the Royal Society A ในอังกฤษ


กำลังโหลดความคิดเห็น