xs
xsm
sm
md
lg

ร้องเร่งช่วย! ชาวสวนยางบุรีรัมย์เดือดร้อนหนัก ราคาต่ำไม่มีเงินจ่ายดอกเบี้ย-หนี้ท่วมหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 200 ครัวเรือน บ้านหินเหล็กไฟ ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เดือดร้อนหนัก จากผลกระทบราคาตกต่ำเรียกร้องรัฐบาลเร่งช่วย วันนี้ ( 11 ธ.ค.)
บุรีรัมย์ - ชาวสวนยางพาราบุรีรัมย์เรียกร้องรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ หลังเกษตรกรเกือบทั้งหมู่บ้านมีอาชีพปลูกยางเดือดร้อนหนักจากผลกระทบราคายางตกต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ทำให้รายได้จากการขายยางไม่เพียงพอชำระดอกเบี้ย ธ.ก.ส.ที่ใกล้ครบกำหนด บางรายมีหนี้สะสมกว่า 2 ล้านบาท

วันนี้ (11 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา บ้านหินเหล็กไฟ ม.1 ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เกือบทั้งหมู่บ้านกว่า 200 ครัวเรือนกำลังประสบปัญหาเดือดร้อนหนัก จากผลกระทบราคายางพาราตกต่ำที่ปัจจุบันเหลือเพียงกิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี ทำให้ขณะนี้เกษตรกรมีรายได้จากการขายน้ำยาง หรือยางแผ่นลดลง ไม่เพียงพอที่จะนำไปชำระหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่กู้ยืมมาลงทุนทำสวนยาง โดยจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมที่ใกล้จะถึงนี้

ทั้งนี้ ราคายางที่ตกต่ำนอกจากจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกยางแล้ว ยังกระทบต่อผู้ที่มีอาชีพรับจ้างกรีดยางทำให้มีรายได้ลดลงตามไปด้วย บางรายรายได้ไม่เพียงพอใช้จ่ายในครอบครัวจนต้องเลิกรับจ้างกรีดยางหันไปทำอาชีพอื่นที่มีรายได้เพียงพอเลี้ยงครอบครัวแทน

จากผลกระทบดังกล่าวจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำไม่ให้น้อยกว่ากิโลกรัมละ 80 บาทจึงจะอยู่รอดได้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทาง ธ.ก.ส.พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกยางที่กำลังประสบปัญหาเดือดร้อนดังกล่าวด้วย

นางศิริวรรณ พุทธานุ อายุ 52 ปี เกษตรกรบ้านหินเหล็กไฟ ต.หินเหล็กไฟ อ.คูเมือง บอกว่า ปลูกยางทั้งหมด 60 ไร่ ขณะนี้เปิดกรีดแล้ว 50 ไร่ แต่ละปีต้องชำระดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.ปีละ 150,000 บาท เนื่องจากมีหนี้สินที่กู้ยืมมาลงทุนปลูกยางสะสมอยู่เกือบ 2 ล้านบาท แต่ปีนี้ยังไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปชำระดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส.เนื่องจากราคายางตกต่ำ ซึ่งจะใช้จ่ายในครอบครัวก็ยังไม่เพียงพอ จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งหาทางแก้ไขปัญหาราคายางไม่ให้ต่ำกว่า กก.ละ 80 บาท และหามาตรการลดอัตราดอกเบี้ยให้แก่ผู้ปลูกยางที่ได้รับผลกระทบด้วย

เช่นเดียวกับ นางสำรวย จันทร์นวล อายุ 60 ปี บอกว่า จากราคายางที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเหลือเพียงกิโลกรัมละ 45 บาท ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบหลายสิบปี จากที่เคยขายได้สูงสุดกิโลกรัมละ 120 บาท จากผลกระทบดังกล่าวได้สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกรที่ปลูกยางพาราในหมู่บ้านเป็นอย่างมาก จากเมื่อก่อนเคยมีรายได้จากการขายน้ำยาง ยางแผ่นหรือยางก้อนถ้วยเฉลี่ยเดือนละหลักหมื่นถึงแสนบาท ปัจจุบันเหลือเพียงหลักพันเท่านั้น

จากรายได้ที่ลดลงดังกล่าวปีนี้จึงยังไม่รู้จะหาเงินที่ไหนไปชำระหนี้ให้ ธ.ก.ส. ซึ่งตนมีหนี้ ธ.ก.ส.อยู่กว่า 200,000 บาท และจะครบกำหนดชำระดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 58แล้วยังไม่รู้จะหาเงินจากที่ไหนไปจ่ายดอกเบี้ย จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หาแนวทางเร่งช่วยเหลือเกษตรกรด้วย





กำลังโหลดความคิดเห็น