ธปท.ประเมินจีนลดดอกเบี้ยนโยบาย เหนือความคาดหมาย เชื่อส่งผลต่อจีดีพีของจีนดีขึ้นได้เพียงเล็กน้อย เหตุสินเชื่อแบงก์ปรับสูงขึ้นได้ไม่มาก
นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการลดดอกเบี้ยนโยบายของจีน โดยระบุว่า เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาชะลอลงตามที่ ธปท.ประเมินเอาไว้ โดยทางการจีนดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงิน เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจระยะยาว ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลง โดยการปฏิรูปภาคการเงินที่สำคัญ คือ การควบคุมแหล่งเงินทุนในภาค Shadow Banking ซึ่งลดปริมาณการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงและการควบคุมระดับหนี้รัฐบาลท้องถิ่นที่มีการกู้เงินนอกงบดุลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละมณฑล ซึ่งจะลดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้ ทางการยังดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจจริง เพื่อลดการพึ่งพาการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพและเพิ่มบทบาทการบริโภคด้วย
นายจิรเทพ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมากิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนชะลอลงตามการลงทุน โดยการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนตุลาคมขยายตัวร้อยละ 15.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 16.1 ในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมยังคงชะลอลงต่อเนื่องจากกำไรภาคธุรกิจที่ปรับลดลงและความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งทางการจีนเข้ามาดูแลโดยการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทขนาดใหญ่ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ (SOEs) ซึ่งมีสัดส่วนการกู้ยืมผ่านธนาคารพาณิชย์สูง
ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนเหนือความคาดหมายของ ธปท. และตลาด โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจจีนเพียงเล็กน้อย และปริมาณสินเชื่อไม่น่าจะปรับสูงขึ้นมาก เนื่องจาก ธนาคารพาณิชย์มีข้อจำกัดจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (Loan to Deposit Ratio) แต่จะเป็นการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายของ SOEs ให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และไม่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินของจีน อย่างไรก็ตาม การลดอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยแท้จริงหลังการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงเป็นบวก
ระยะต่อไป ธปท. ประเมินว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 7-7.5 จากการควบคุมความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และนโยบายปรับสมดุลการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Rebalancing) โดยน่าจะเป็นการชะลอตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปสะท้อนจากการออกมาตรการดูแลการขยายตัวทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเดินหน้าปฏิรูปอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาระดับการจ้างงานให้เหมาะสม