ศูนย์ข่าวศรีราชา - ไทยออยล์ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย โครงการผลิตสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ส่วนขยาย ครั้งที่ 1
วันนี้ (2 ธ.ค.) นายวิโรจน์ มีนะพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับกิจการองค์กร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) นายภูษิต แจ่มศรี ปลัดเทศบาลนครแหลมฉบัง รักษาการนายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เป็นประธานเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียต่อการกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดส่วนขยาย ครั้งที่ 1
นายวิโรจน์ กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของบริษัท ลาบิกซ์ จำกัด ในเครือไทยออยล์ มีความประสงค์ที่จะพัฒนาโครงการผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยมีความต้องการใช้สารดังกล่าวในปริมาณที่สูงถึง 65,000 ตันต่อปี และคาดว่าจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดได้เอง จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทในการผลิตสารชนิดนี้เพื่อใช้ภายในประเทศ ซึ่งนอกจากจะสามารถทดแทนการนำเข้าสารแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้กว่าปีละ 6,000 ล้านบาท
บริษัทได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการผลิตสารตั้งต้นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดกำลังการผลิต 300 ตันต่อวัน และนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 รวมทั้งขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม และได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557
ต่อมา เมื่อบริษัทได้เริ่มทำการออกแบบโครงการโดยละเอียด เพื่อก่อสร้างโรงงานตามที่ได้รับอนุญาต พบว่า ด้วยการใช้เครื่องจักร และอุปกรณ์เดิมตามที่ระบุไว้ในรายละเอียดโครงการ โรงงานสามารถเพิ่มกำลังการผลิตจาก 300 ตันต่อวัน เป็น 360 ตันต่อวันได้ ซึ่งถือว่าเป็นการขยายกำลังการผลิตจากเดิมที่ได้รับอนุญาตไว้
นายวิโรจน์ กล่าวว่า บริษัทจึงได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการขอความเห็นชอบในการปฏิบัติการของโครงการ นอกจากนี้ บริษัทเล็งเห็นความสำคัญของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้จัดให้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมอบหมายให้บริษัท ซีคอท จำกัด เป็นผู้ศึกษา และจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในครั้งนี้ขึ้น
สำหรับการการรับฟังครั้งนี้ ประชาชนบางส่วนในพื้นที่มีความเป็นห่วงเรื่องปัญหาและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หากโครงการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ปัญหาทางคุณภาพอากาศ คุณภาพของน้ำกินน้ำใช้ คุณภาพของน้ำทะเล ที่อาจส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล ปัญหาความเป็นอยู่ และสุขภาพของประชาชน โดยขอให้ทางบริษัทมีความจริงใจการป้องกันเพื่อไม่ให้ปัญหาต่างๆ ขึ้น รวมทั้งหากมีปัญหาเกิดขึ้น ทางบริษัทต้องมีความจริงใจในการแก้ไข
โดยชาวบ้านอยากได้ความจริงใจจากทางบริษัทในการอยู่ร่วมกัน เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้เรื่องสารเคมีต่างๆ ซึ่งเข้าใจว่าทางบริษัทเองจะต้องรู้ดีว่าอะไร คือ อันตรายสำหรับประชาชน และอะไรอันตรายสำหรับสิ่งแวดล้อม
ด้าน ดร.ถิรยุทธ ลิมานนท์ ผู้จัดการแผนกนโยบายสิ่งแวดล้อมและพลังงาน กล่าวถึงปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นห่วงว่า บริษัทที่ปรึกษา และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะนำเสนอในแผนงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของชุมชนที่อยู่โดยรอบ
โดยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากนี้ จะลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นประชาชนเพื่อประมวลความต้องการ จากนั้นจะเปิดเวทีการรับฟังความคิดเห็นอีกเป็นครั้งที่ 3 เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำเสนอรายงานต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาตามลำดับต่อไป