xs
xsm
sm
md
lg

ทช.เชียงรายทุบตึกร้านวัสดุก่อสร้างดัง ยื้อเวนคืนสร้างถนนวงแหวนนาน 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - ทางหลวงชนบทเชียงรายนำตำรวจพร้อมตัวแทนหลายหน่วยงานเป็นสักขีพยานทุบตึกผู้ค้าวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ หลังยื้อเวนคืนสร้างวงแหวนรอบนอกมานาน 5 ปี ทั้งที่ขายให้แบงก์ และจ่ายเงินค่าเวนคืนให้ธนาคารไปแล้ว

วันนี้ (27 พ.ย.) นายพีรพัฒน์ ภู่ตันติกุล ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 17 นายเอนก ณัฐโฆษิต ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงชนบทเชียงราย และ น.ส.ฉัตรนภา รักชาติเจริญ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักกฎหมาย ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมทางหลวงชนบท เป็นคณะทำงานสำรวจทรัพย์สิน และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนขนย้ายทรัพย์สินออกจากแนวเขตเวนคืน ตามโครงการก่อสร้างถนนตามผังเมืองรวมสาย จ 3 (ตอนที่ 4) ผังเมืองรวมเชียงราย อ.เมือง เพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินเวนคืนท้องที่ ต.รอบเวียง ต.ท่าสาย และ ต.สันทราย อ.เมือง

โดยเข้าตรวจสอบโครงการบริเวณสี่แยกท่าสาย ต.ท่าสาย ซึ่งเป็นจุดที่มีการสร้างเป็นทางยกระดับ ปัจจุบันมีการสร้างเสาตอม่อ 4-5 เสา และด้านใต้กำลังจะสร้างจุดกลับรถและขอบทางที่ไม่สามารถสร้างต่อไปได้ เนื่องจากมีอาคารของ หจก.เชียงรายสินไพบูลย์ จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและสุขภัณฑ์ โฉนดเลขที่ 8577 และ 82340 ไม่ยอมย้ายออกไปจากแนวเวนคืนที่ดิน

นายเอนกและคณะ รวมทั้งตำรวจ สภ.เมือง และพยานจากองค์กรต่างๆ จึงได้นำป้ายประกาศของกรมทางหลวงเรื่องรื้อถอนอาคารสถานที่ไปติดไว้ที่ด้านหน้าอาคารดังกล่าว พร้อมให้ น.ส.ฉัตรนภา อ่านประกาศ และข้อบังคับกฎหมายต่างๆ ผ่านเครื่องกระจายเสียงของตำรวจให้ผู้อาศัยได้รับทราบ

ซึ่งมีเนื้อหาสรุปว่า ได้มีสิ่งก่อสร้าง 7 รายการ ได้แก่ อาคารเก็บวัสดุก่อสร้าง 2 และ 3 ชั้น เป็นที่พักอาศัย อาคารจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง 3 ชั้น อาคารโรงอัดอิฐบล็อก อาคารชั้นเดียว โรงจอดรถบรรทุก โกดังเก็บวัสดุก่อสร้าง รั้วและกำแพงอิฐบล็อก ในโฉนดดังกล่าวถูกเวนคืนที่ดินไปแล้ว และก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าจะเข้ารื้อถอนในวันที่ 27 พ.ย.นี้ หลังจากแจ้งให้ผู้อาศัยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกไปภายในวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา

แต่ปรากฏว่าทาง หจก.เชียงรายสินไพบูลย์ ยังคงเปิดกิจการจำหน่ายสินค้าตามปกติ ภายในอาคารยังคงจัดวางสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสุขภัณฑ์ และมีรถบรรทุก อุปกรณ์ ตามอาคารติดแนวก่อสร้างของกรมทางหลวงชนบทเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากนี้ภายในยังติดตั้งเครื่องจักรทำอิฐบล็อก และมีการวางแนวรั้วกั้นระหว่างอาคารกับการก่อสร้างภายนอกด้วย

ทางเจ้าหน้าที่จึงนำกำลังเข้าไปรื้อถอน ปรากฏว่ามีหญิง 2-3 คน ซึ่งค้าขายอยู่ภายในเข้ามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ โดยขอเลื่อนระยะเวลาขนย้ายข้าวของ และขอไม่ให้รื้อถอนอาคารบางส่วนที่อยู่นอกแนวการก่อสร้างด้วย

นายเอนกกล่าวว่า ที่ดินดังกล่าวมีประมาณ 4 ไร่ 16 ตารางวา แต่แนวเขตที่จะใช้มีประมาณ 2 งาน 10 ตารงวา หรือลึกเข้าไปประมาณ 10 เมตรตลอดแนว ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2553 เจ้าหน้าที่ได้เชิญนายณัฐพงษ์ วัชรประภาพงษ์ เจ้าของไปทำสัญญารับค่าเวนคืนประมาณ 25 ล้านบาท

แต่ต่อมาทราบว่าธนาคารได้ฟ้องนายณัฐพงษ์ และธนาคารกลายเป็นผู้ซื้อทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว สำนักงานทางหลวง จ.เชียงราย จึงได้นำเงินไปจ่ายให้ธนาคารแล้ว 19,379,549 บาท เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2556 ส่วนที่เหลืออีก 6,444,304 บาท ยังจ่ายไม่ได้เพราะก่อสร้างต่อไม่ได้เนื่องจากผู้อาศัยไม่ยอมย้ายออกไป แม้จะมีการเจรจามาแล้วหลายครั้ง ผ่านมาร่วม 5 ปี เอกชนที่รับเหมาก่อสร้างก็เร่งรัด เพราะจะกระทบต่อโครงการทั้งหมด และหากเวนคืนไม่ได้ รัฐจะต้องเสียค่าปรับให้ผู้รับเหมาอีกจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีแจ้งให้ขนย้ายออกไปก่อนวันที่ 21 พ.ย. และเข้าดำเนินการดังกล่าว

“ส่วนที่ผู้อาศัยขอไม่ให้รื้ออาคารด้านในนั้นไม่อาจรับปากได้ เพราะผู้ที่รับเงินค่าเวนคืนไปแล้วคือธนาคาร อย่างไรก็ตาม ก็จะให้เวลาขนย้ายข้าวของออกไป เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อทรัพย์สินภายใน แต่กรณีไม่ให้ดำเนินการล้ำแนวก่อสร้างนั้นคงไม่ได้ เพราะปัจจุบันได้มีการจ่ายเงินให้กับธนาคารครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดแล้ว”

ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ได้ใช้รถแบ็กโอและคนงานเข้ารื้อถอนรั้ว อาคารสถานที่ต่างๆ ท่ามกลางสักขีพยานที่ทางกรมทางหลวงชนบทได้เชิญมาตรวจสอบร่วมกัน ขณะที่ทาง หจก.เชียงรายสินไพบูลย์อ้างว่าไม่สามารถย้ายออกไปได้ทัน แต่เจ้าหน้าที่ยืนยันจะส่งคนงานเข้าไปช่วยขนย้าย หากไม่ย้ายจะถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 35 พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาทิมพทย์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเดินหน้ารื้อถอนตามขั้นตอน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ไม่พบนายณัฐพงษ์แต่อย่างใด













กำลังโหลดความคิดเห็น