“อาคม” ถกมาตรการแก้จราจรใน กทม. และเมืองใหญ่ ระบุ กทม.สุดวิกฤตโดยเฉพาะถนนที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าจราจรติดหนัก เหตุปริมาณรถจดทะเบียนพุ่งสูงถึง 8.5 ล้านคัน เล็งทำคู่มือมาตรฐานก่อสร้างจัดระเบียบจราจร และเสนอ คจร.สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีก 3 แห่ง “เกียกกาย-สมุทรปราการ-ปทุมธานี” เชื่อมพื้นที่ฝั่งธนฯ กับ กทม.
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมแก้ปัญหาจราจรในเมืองหลักวันนี้ (4 พ.ย.) ว่า ได้หารือถึงมาตรการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ 6 เมืองหลักในภูมิภาค ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก และสงขลา โดยในส่วนของพื้นที่ กทม.นั้นได้เร่งรัดให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ( คจร.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยมี 3 ประเด็นหลัก คือ การแก้ปัญหาจราจรในถนนที่มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมการจราจรพื้นที่ฝั่งธนบุรีกับกรุงเทพฯ ชั้นใน และการนำระบบเทคโนโลยี จราจรอัจฉริยะ (ITS) มาใช้ในการจัดระบบจราจร ทั้งข้อมูลข่าวสาร และการให้บริการรถสาธารณะ
ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณรถยนต์ใน กทม.มีจำนวนมาก โดยปี 2557 มีรถจดทะเบียนถึง 8.5 ล้านคัน เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2555-2556 เนื่องจากนโยบายรถคันแรก และเพิ่มจากปี 2547 ถึง 1 เท่าตัว ทำให้ผิวจราจรที่มีไม่เพียงพอ โดยถนนที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งสายสีม่วง สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และสายสีแดง มีปัญหาจราจรมาก ซึ่งทั้งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) หน่วยงานเจ้าของโครงการจะได้ประสานงานร่วมกับ กทม. และตำรวจ กำหนดมาตรการจัดระเบียบในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างรถไฟฟ้า แต่ยังพบว่าถนนจรัญสนิทวงศ์ เยาวราช เจริญกรุง การจราจรยังติดขัด ซึ่งในอนาคตกระทรวงคมนาคมจะจัดทำคู่มือมาตรฐานการก่อสร้างสำหรับโครงการใหม่ดำเนินการช่วงกลางวันได้ ส่วนงานซ่อมบำรุงต่างๆ ให้ดำเนินการช่วงกลางคืน เป็นต้น
สำหรับการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมระหว่าง กทม. กับฝั่งธนบุรี ซึ่งปัจจุบันสะพานที่มีปริมาณจราจรติดขัดอย่างหนัก โดยความเร็วเฉลี่ยประมาณ 22 กม./ชม. บางพื้นที่ต่ำกว่า 20 กม./ชม. ติดขัดมาก โดยเฉพาะพื้นที่ถนนสาทร จากสะพานสาทรเพื่อเข้าเมือง มีความเร็ว 15-16 กม./ชม.เท่านั้น ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างสะพานนนทบุรี 1 จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2557 นี้ ส่วนโครงการในแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ระหว่างปี 60-64 มีรวม 9 สะพาน ซึ่งจะสรุปความคืบหน้ารายงานต่อ คจร.
โดยมีสะพาน 3 แห่งเร่งด่วน คือ โครงการสะพานเกียกกาย วงเงิน 9,100 ล้านบาท (รวมโครงสร้างทางยกระดับ 5.9 กิโลเมตร) มี กทม.เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ รองรับรัฐสภาแห่งใหม่ แต่ติดปัญหาทางลง โครงการสะพานสมุทรปราการ วงเงิน 19,437 ล้านบาท (รวมถนนโครงข่าย 37 กิโลเมตร) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ อยู่ระหว่างการออกแบบ โดยใช้งบประมาณปี 2557-2558 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 โดยจะใช้เงินกู้ในการก่อสร้าง และโครงการสะพานปทุมธานี 3 วงเงิน 1,820 ล้านบาท (รวมโครงข่ายถนน 10.5 กิโลเมตร) กรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ