xs
xsm
sm
md
lg

“มิตรผล” กาฬสินธุ์เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น เล็งขยายผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล-เอทานอล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หลังมีโครงการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าชีวมวลและเอทานอล
กาฬสินธุ์ -โรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการผลิตเอทานอลในเครือน้ำตาลมิตรผล เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชน ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เตรียมขยายกำลังการผลิต มุ่งลดนำเข้าเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ

วันนี้ (21 พ.ย.) ที่ลานอเนกประสงค์โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายไพโรจน์ จิตจักร ปลัดอาวุโสอำเภอกุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้อำนวยการด้านอ้อยโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ นายฉัตรกุล ปาณินห์ ผู้อำนวยการโรงงานบริษัท มิตรผลไบโอฟูเอล จำกัด พร้อมด้วยคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ร่วมเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

ตามแผนขยายกำลังการผลิตลดการนำเข้าด้านพลังงานเชื้อเพลิง และพลังงานจากต่างประเทศโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ (กุฉินารายณ์) จำกัด และโครงการเอทานอลมิตรผล (กุฉินารายณ์) ของบริษัท ไบโอฟูเอล (กุฉินารายณ์) จำกัด โดยมีผู้นำชุมชน ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนส่วนราชการและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมกว่า 1,000 คน

นายสมชาย จันทร์เศรษฐี ผู้อำนวยการโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ กล่าวว่า บริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ (กุฉินารายณ์) จำกัด เป็นบริษัทในเครือกลุ่มมิตรผล เพื่อผลิตไฟฟ้าแบบชีวมวล โดยใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ตัดไม้ทำลายป่า เพื่อตอบสนองความต้องการของรัฐบาลที่ปัจจุบันพลังงานไฟฟ้ามีใช้อย่างจำกัด

ส่วนบริษัท ไบโอฟูเอล (กุฉินารายณ์) จำกัด ก็เป็นบริษัทในกลุ่มมิตรผล เพื่อผลิตเอทานอลบริสุทธิ์จากโมลาส ใช้เป็นเชื้อเพลิงเอทานอลพลังงานทดแทนน้ำมันจากฟอสซิล ซึ่งมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ บริษัทเล็งเห็นความสำคัญนำวัตถุดิบที่ผลิตได้เอง คือ กากน้ำตาลมาหมักเปลี่ยนน้ำตาลเป็นเอทานอล แล้วกลั่นและแยกน้ำออก จนกลายเป็นเอทานอลที่มีความบริสุทธิ์ถึง 99.5% สามารถนำไปผสมน้ำมันเบนซิน ใช้เป็นเชื้อเพลิงได้

นายสมชายกล่าวว่า บริษัทได้ตระหนักและมุ่งเน้นพัฒนาสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ลดการนำเข้าด้านเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศ จึงมีแนวคิดขยายกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานในประเทศ โดยเพิ่มกำลังผลิตเพื่อขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต เป็น 45 MW และเพิ่มกำลังผลิตเอทานอลอีก 320,000 ลิตรต่อวัน

จึงจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ภาครัฐและประชาชนได้รับทราบ และแลกปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อระดมความคิดเห็นต่างๆ ไปพิจารณาป้องกันผลกระทบ สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ชุมชนเพื่อความยั่งยืนต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น