ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการตั้งข้อสังเกต วัดมาบสามเกลียว อยู่กลางนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี ได้อย่างไร เผยการขยายตัวของนิคมฯ ทำให้มีโรงงานตั้งอยู่ล้อมรอบวัด ขณะหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องผ่านการพิจารณารายอีไอเอ ก่อนอนุญาตจัดตั้งโรงงานแบบไหน โดยไม่มีมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายกำหนด
นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย ได้กล่าวถึงกรณีพระครูวิบูลย์สุภากร เจ้าอาวาสวัดมาบสามเกลียว เนื้อที่ 7 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่ 7 ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี ได้เขียนข้อความติดไว้ในพื้นที่นิคมอมตะนครว่า “ประกาศขาย วัดมาบสามเกลียว ต.ดอนหัวฬ่อ อ.เมือง จ.ชลบุรี สาเหตุอมตะเอาสิ่งแวดล้อมมาเบียดเบียนวัดเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ทางวัดประกาศขายด่วน” เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเสียงดังรบกวนที่รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ ขนส่งสินค้าวิ่งผ่านหน้าวัดทั้งวันทั้งคืน จนทำให้พระในวัดไม่สามารถทนอยู่ได้จึงสึกหมด เหลือท่านพระครูอยู่รูปเดียวนั้น
ตนมีข้อสังเกตว่า จากการตรวจสอบพื้นที่จะเห็นได้ว่า วัดมาบสามเกลียว ตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2528 ส่วนนิคมอุตสาหกรรมอมตะนครเริ่มก่อตั้งในปี 2532 มีการขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆ จนปัจจุบันถึงระยะที่ 9 (พ.ศ.2557) มีพื้นที่ทั้งสิ้น 18,873 ไร่ มีโรงงานอุตสาหกรรมทั้งสิ้น 514 โรง การขยายตัวของนิคมฯ ทำให้มีโรงงานตั้งอยู่ล้อมรอบวัดมาบสามเกลียว จนกลายเป็นว่า วัดมาบสามเกลียว ตั้งอยู่กลางนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ถนนหน้าวัดก็เป็นถนนของนิคมฯ
จากการเฝ้าสังเกตมีรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ วิ่งผ่านตลอดเวลา เสียงดังจะมาจากล้อกระทบถนน แตรลม เสียงจากเบรกเนื่องจากตั้งอยู่ใกล้สี่แยก การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำการตรวจวัดระดับเสียงปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 3 วัน เป็นไปตามตามเงื่อนไขในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ทำการตรวจวัดมาตลอดทุกปีไม่เคยเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ไม่เกิน 70 เดซิเบลเอเลย
แต่ปัญหาที่วัดสามเกลียว ได้รับคือ เสียงดังรบกวน นอนไม่หลับ เสียงดังรบกวนการพูด การทำสมาธิ การประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เป็นต้น ซึ่งตรงนี้ต้องยอมรับความจริงว่าก่อให้เกิดเสียงรบกวนจริงๆ
ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในกรณีการตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรม (อีไอเอ) ของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จนถึงเฟสที่ 9 ในปัจจุบัน (พ.ศ.2532-2557) ทำไมหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต่อการพิจารณารายงานฯ จึงเห็นชอบต่อรายงาน และโครงการ โดยไม่มีมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
การเห็นชอบกับรายงานอีไอเอดังกล่าว ทำให้วัดมาบสามเกลียว ถูกรายล้อมด้วยโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่มีรถบรรทุกพ่วงสินค้าวิ่งตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน โดยวัดมีระยะห่างจากโรงงานอุตสาหกรรมใกล้เคียงเพียง 50 เมตรเท่านั้น
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ห้ามตั้งโรงงานประเภทที่ 3 ภายในระยะ 100 เมตร จากเขตติดต่อสาธารณสถาน ได้แก่ โรงเรียน หรือสถาบันการ ศึกษา วัด หรือศาสนาสถาน โรงพยาบาล โบราณสถาน และสถานที่ทำการงานของหน่วยงานของรัฐ และให้หมายความรวมถึง แหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ทั้งนี้ กำหนดให้ตั้งอยู่ในทำเล และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมมีบริเวณเพียงพอที่จะประกอบกิจการอุตสาหกรรมตามขนาด และประเภท หรือชนิดของโรงงานโดยไม่อาจก่อให้เกิดอันตรายเหตุรำคาญ หรือความเสียหายต่อบุคคล หรือทรัพย์สินของผู้อื่นด้วย
ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากรณีนี้การอนุญาตที่ผ่านมาผิดกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 ชัดเจน ซึ่งถือเป็นบทเรียนของราชการในการอนุญาตที่มุ่งส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมมากกว่าการดูแลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน
นอกจากนี้ มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ เสนอให้ปลูกต้นไม้ลดเสียงลง และกำชับไม่ให้รถบรรทุกพ่วงส่งเสียงดัง เป็นมาตรการที่เป็นไปไม่ได้ มาตรการเบื้องต้นต้องทำให้เสียงดังรบกวนลดลง ได้แก่ ติดตั้งกำแพงกั้นเสียงที่กำแพงวัด และปลูกต้นไม้ ใบดกหนา 3 แถวโตเร็ว เช่น อโศกอินเดีย ยูคาลิปตัส กระถินณรงค์ เป็นต้น บริเวณหน้ากำแพงวัดอีกชั้น การให้รถบรรทุกพ่วง 18 ล้อใช้เส้นทางอื่น แทนที่วิ่งผ่านหน้าวัด
นอกจากนี้ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จะต้องเร่งทำนุบำรุง และดูแลให้วัดกลับมาเป็นสภาพวัดที่มีพระมาบวชเรียนสามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ เป็นสถานที่ทำบุญของพนักงานโรงงานในนิคมฯ โดยไม่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทั้งเสียง และกลิ่นด้วย