กาฬสินธุ์ - จังหวัดกาฬสินธุ์ประชุมคณะกรรมการจัดการชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว วางแผนใช้น้ำช่วงหน้าแล้ง มั่นใจน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค แนะลดปลูกข้าวนาปรัง หันทำเกษตรผสมผสานตามแนวพระราชดำริในหลวง พร้อมชูต้นแบบเกษตรกรในโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยฯ แก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง
วันนี้ (13 พ.ย.) ที่ห้องประชุม 4/1 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายภุชงค์ โพธิกุฏสัย ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายปิยปัญญา ภู่ขวัญเมือง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พร้อมด้วยคณะกรรมการจัดการชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ซึ่งประกอบด้วย นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเกษตรกรในพื้นที่ชลประทานเขื่อนลำปาวร่วมประชุม
ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์และวางแผนการจัดการน้ำเขื่อนลำปาวในช่วงหน้าแล้ง ปี 2557/2558 หลังจากเขื่อนลำปาวต้องส่งน้ำลงสู่แม่น้ำปาว และจะต้องแบ่งปันน้ำลงสู่แม่น้ำชีเพิ่มขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี ให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และใช้อุปโภค บริโภคในช่วงหน้าแล้ง
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาวปัจจุบันมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 1,185 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 1,980 ล้าน ลบ.ม. หรือ 59% ซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าในฤดูกาลเพาะปลูก 2557/2558 เพียงพอต่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง การปลูกพืชฤดูแล้ง การประมง และเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคช่วงหน้าแล้ง แต่เกษตรกรในพื้นที่ชลประทานควรลดการเพาะปลูกข้าวนาปรังลง
ส่วนพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนล่างที่เขื่อนลำปาวส่งน้ำไปช่วยนั้นควรงดปลูกข้าวนาปรังเนื่องจากใช้น้ำมาก และให้ปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน เพราะหากปลูกข้าวนาปรังเต็มพื้นที่น้ำจะไม่เพียงพอ จะต้องสงวนน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคช่วงหน้าแล้งด้วย
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำชับให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรทุกพื้นที่ยึดหลักทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากสามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวในช่วงหน้าแล้งได้เป็นอย่างดี
โดยมีตัวอย่างเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งหลังจากพัฒนาขุดลอกแล้วเสร็จ เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากน้ำหนองเลิงเปือยแล้ว มีเกษตรกรหลายรายหันมายึดทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างเต็มตัว มีทั้งปลูกข้าว เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา ปลูกพืชล้มรุก พืชผักสวนครัว และผลไม้ ประสบผลสำเร็จสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวแบบรายวัน รายเดือน รายปีเป็นอย่างดี ทำให้แต่ละครอบครัวมีเงินหมุนเวียนอย่างน้อยกว่า 25,000 บาทต่อเดือน