อุบลราชธานี - ดีเอสไอ ร่วมกับ ป.ป.ท.เขต 3 นครราชสีมา ลงพื้นที่อำเภอตาลสุม อุบลราชธานี แจงวิธีขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว พบปัญหาปลูกข้าวไม่เต็มพื้นที่ตามที่แจ้งขึ้นทะเบียน ทั้งบางรายมีที่นาคาบเกี่ยว 2 อำเภอ ด้านเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และ ป.ป.ท.เตรียมข้อมูลส่งต่อให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติรับไปแก้ไขให้ถูกต้อง
วันนี้ (12 พ.ย.) นายสุริยันต์ กิจสวัสดิ์ นายอำเภอทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักคดีความมั่นคงดีเอสไอ และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เขต 3 นครราชสีมา ประชุมชี้แจงเกษตรกร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครเกษตรประจำตำบล เพื่อทำความเข้าใจขั้นตอนการแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรรับเงินชดเชยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท ให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน เนื่องจากที่ผ่านมาผู้ปฏิบัติงานยังสับสนกับขั้นตอนทำงาน โดยหลังจากวันที่ 15 พ.ย.เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และ ป.ป.ท.จะสุ่มตรวจสอบจับทุจริตขั้นตอนการแจ้งขึ้นทะเบียน
โดยจับตาเกษตรกรรายใหม่ที่มาขึ้นทะเบียนหลังวันที่ 1 ต.ค.เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ รวมทั้งตรวจจับการแจ้งขึ้นทะเบียนพื้นที่ปลูกข้าวที่ไม่ตรงกับพื้นที่ใช้ปลูกจริง เช่นมีพื้นที่ 15 ไร่ แต่ปลูกข้าวเพียง 10 ไร่ แต่แจ้งขึ้นทะเบียนเต็มทั้ง 15 ไร่
นอกจากนี้ยังตรวจจับการขยายสิทธิ เช่น มีที่นามากกว่า 15 ไร่ แล้วแบ่งซอยให้ลูกหลานมาถือสิทธิส่วนที่เหลือ แจ้งขึ้นทะเบียนขอรับสิทธิซ้ำซ้อนกัน รวมทั้งให้เช่าพื้นที่ปลูกข้าว แต่เจ้าของนามาขอรับเงินแทนผู้ที่ปลูกจริง เป็นต้น
นายสุริยันต์ กิจสวัสดิ์ นายอำเภอทุ่งศรีอุดม กล่าวว่า ปัญหาของพื้นที่อำเภอทุ่งศรีอุดมคือ ชาวนามีที่ดินคาบเกี่ยวสองอำเภอ และไปขอขึ้นทะเบียนทั้ง 2 พื้นที่ ทำให้ระบบไม่รองรับ ซึ่งประเด็นนี้อำเภอได้รวบรวมปัญหาแจ้งให้ส่วนกลางทราบเพื่อช่วยแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง
ขณะที่นายศักรินทร์ ทุมเสน นายอำเภอตาลสุม กล่าวถึงปัญหาของพื้นที่ว่า พบกรณีชาวนาแจ้งมีพื้นที่ปลูกข้าวครบทั้ง 15 ไร่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ของอำเภอลงตรวจสอบพบใช้ปลูกข้าวเพียง 10 ไร ส่วนอีก 5 ไร่ใช้ปลูกพืชผักสวนครัว ใช้เป็นพื้นที่เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งเป็นพื้นที่ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ได้แจ้งปัญหาที่พบให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ และ ป.ป.ท.เพื่อนำไปแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป
ด้านนายทวีวัฒน์ สุรสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักคดีความมั่นคงดีเอสไอ ระบุว่า การลงพื้นที่ 2 วันที่ผ่านมาพบปัญหาในอำเภอตาลสุม คือ แจ้งขึ้นทะเบียนรับเงินเต็ม 15 ไร่ แต่ปลูกข้าวจริง 10 ไร่ กรณีนี้ต้องมีการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นดีเอสไอ และ ป.ป.ท.จะนำข้อมูลส่งให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติรับทราบ และหลังวันที่ 15 พ.ย.เจ้าหน้าที่จะสุ่มตรวจเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดทุจริต และให้เกษตรกรได้รับเงินช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยตามจุดประสงค์ของรัฐบาลด้วย
ขณะที่ พ.ต.ท.ทนง เพิ่มพูล ผอ.ป.ป.ท.เขต 3 ระบุว่า หลังวันที่ 15 พ.ย. ป.ป.ท.จะลงตรวจสอบทุกพื้นที่ที่มีข้อสงสัย โดยจะตรวจจับการทุจริตคือ เกษตรกรแจ้งพื้นที่เกินความจริง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกับเกษตรกรแจ้งพื้นที่เพาะปลูกเป็นเท็จ และเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับเงินจากชาวนาที่ได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,000 บาท