พิษณุโลก - ผู้ว่าฯ บุกเปิบ “สเต๊กเนื้อกวางรูซ่า เนินมะปราง” สัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ แนะหยุดล่าสัตว์ป่า กินเนื้อกวางละเอียดไร้ไขมันแทน ระบุ “เขากวางอ่อน” วันนี้ราคาแพงลิบ กิโลกรัมละ 1.2 หมื่น เป็นยาโด๊ปท่านชาย ชะลอความแก่ของหญิงสาว
วันนี้ (22 ต.ค) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเปิดงาน “น้ำตกไผ่สีทอง” แหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดแล้ว ได้ไปชิมสเต๊กกวางที่ภัคดีฟาร์ม อ.เนินมะปราง ฟาร์มเลี้ยงกวางแห่งแรกและแห่งเดียวของพิษณุโลก โดยนายจักรินพร้อมหัวส่วนราชการต้องนั่งรอกันครู่ใหญ่เนื่องจากสเต๊กกวางต้องใช้เวลาปรุงให้สุกทีละจาน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเนื้อกวางตัวเป็นๆ จริงหรือไม่
“หลายคนมองว่าการบริโภคเนื้อกวางเป็นการกินสัตว์ป่าสงวนหรือทารุณสัตว์ ความจริงวันนี้คือยุคสมัยเปลี่ยนไป วันนี้เป็นการบริโภคเนื้อกวางที่ถูกเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ ผ่านโรงชำแหละถูกต้อง และลึกๆ แล้วผู้เลี้ยงกวางทุกคนต้องการให้หยุดล่าสัตว์ป่า ดังนั้นควรหันกินเนื้อสัตว์เศรษฐกิจดีกว่าล่าสัตว์” นายภักดี-พิสิฐพล พานุรัตน์ สองพี่น้องผู้บุกเบิกภัคดีฟาร์มกล่าว
นายภักดีกล่าวว่า ตนเดินทางมาที่ อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ก็ถูกใจ เดิมพื้นที่แถบนี้มีแต่ชาวไร่ มีหญ้าขึ้นเต็มไปหมด ไม่มีสวนยางพารา จึงตัดสินใจบุกเบิกที่ดินทำเป็นสวนปศุสัตว์ เนื่องจากฝนตกต่อเนื่อง อากาศเหมาะสม จึงลองเลี้ยงกวางพันธุ์รูซ่าเมื่อปี 2546 เริ่มแรกเลี้ยงอยู่ 17 ตัว ปัจจุบันมีอยู่ราว 150 ตัว จากนั้นมาก็เลี้ยงทั้งรูซ่า และสายพันธุ์ดาวินเดียร์ (สวยงาม) มีหญ้าให้กินต่อเนื่อง จะมีปัญหาเพียงช่วงฤดูแล้งเท่านั้นที่อาหารหายาก
ทั้งนี้ การเลี้ยงกวางรูซ่ามี 2 เป้าหมาย คือ 1. เขาอ่อน และ 2. เนื้อ เมื่อกวางอายุ 3 ปีขึ้นไป คนเลี้ยงจะทราบแล้วว่ากวางตัวใดควรเลี้ยงไว้เอาเขาอ่อน หรือเลี้ยงขุนไว้เอาเนื้อกวาง ซึ่งจะให้กินพืชล้วนๆ ที่เป็นสารอาหารธรรมชาติ ไม่มีการเร่งเนื้อแดง อาหารหลัก คือ หญ้า ใบไม้แห้ง หญ้ารูซี่ อาหารเม็ดเสริม ต้นทุนการเลี้ยงประมาณ 3,500 บาทต่อปีต่อตัว หากเทียบจากกวาง 1 ตัว กินอาหารเพียง 10% ของน้ำหนัก ราคาหญ้ากิโลกรัมละ 1 บาท ดังนั้นระยะ 2-3 ปีลงทุนประมาณ 7,000 บาท ให้ผลผลิต 2-3 หมื่นบาทต่อตัว"
อย่างไรก็ตาม กวางพันธุ์รูซ่าถูกนำมาเลี้ยงและแพร่ขยายพันธุ์เชิงพาณิชย์ในฟาร์มขนาดใหญ่เพื่อตัดเขาอ่อนส่งต่อบริษัทแปรรูปเขากวางอ่อนอยู่ในรูปแคปซูลเป็นยาโด๊ป ที่เหลือก็ขายเป็นเนื้อ เขาแก่ๆ และหนังก็ทำเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด แต่เขากวางอ่อนถือว่าแพงที่สุดเพราะใช้สำหรับทำยา ถ้าขายสดๆ กิโลกรัมละ 6,000 บาท หากผ่านกระบวนการอบความร้อนจนแห้ง จากนั้นบดเป็นแคปซูลที่โรงงาน จ.ราชบุรี กิโลกรัมละ 12,000 บาท ส่วนหางยังขายได้กิโลกรัมละ 1,200 บาท เพราะช่วยรักษาโรคไต ส่วนหนังกวางสามารถนำไปแปรรูปเป็นกระเป๋า รองเท้า ขายกันในราคาผืนละหมื่นบาท
สำหรับสรรพคุณเขากวางอ่อนเคยมีการทดลองให้หนูขาวที่หมดวัยเจริญพันธุ์กิน พบว่าหนูขาวสามารถผสมพันธุ์ได้เรื่อยๆ และมีน้ำหนักอัณฑะมาก ตัวสเปิร์มวิ่งเร็วกว่า ดังนั้น ถ้าผู้ชายรับประทานจะช่วยเพิ่มพลังเหมือนยาโด๊ป ทำให้เลือดหมุนเวียนในระบบดี แต่ไม่เหมือนไวอะกร้าแน่นอน
นอกจากนี้ เขากวางอ่อนยังอุดมไปด้วยโปรตีนที่เป็นคอลาเจน ทำให้ผิวหนังและกล้ามเนื้อเต่งดึง หญิงที่อายุเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรืออายุ 12 ปีขึ้นไป เริ่มขาดแคลเซียม เขากวางอ่อนจะช่วยได้ และยังสามารถยับยั้งชะลอความแก่ได้เหมือนกับยาอายุวัฒนา บริโภคได้มาก โดยไม่มีผลข้างเคียง แต่ข้อเสียคือราคาแพง
“กวางรูซ่าตัดเขาขายไปได้เรื่อยๆ จนหมดอายุขัย การตัดเขามีอุปกรณ์ คือ ใบมีดเลื่อยเขา ซึ่งไม่ทรมานสัตว์ เหมือนเราตัดเล็บ ยาวก็ตัดออกแล้วงอกขึ้นมาใหม่ จากนั้นแช่ตู้แช่แข็งรอส่งขาย ถือว่าเป็นชิ้นส่วนที่แพงสุดของกวาง”
ด้านนายพิสิฐพลกล่าวเสริมว่า ทำฟาร์มกวางถือว่าเป็นการลงทุนเลี้ยงกวางเชิงพาณิชย์จริงๆ แต่ไม่เห็นด้วยกับคนมีเงินแต่ไม่มีเวลาเลี้ยง ลงทุนเหมือนธุรกิจแชร์ลูกโซ่ โฆษณาชวนเชื่อ เคยมีคนลงทุนไปแล้วคนละ 5-7 แสนบาท อ้างเป็นคอนแทร็ก ฟาร์มมิ่ง ลักษณะจ่ายเงินเพื่อซื้อกวาง จ่ายแรงงานเลี้ยง รอเก็บเกี่ยวผลผลิต ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นธุรกิจที่เสี่ยง วันหนึ่งสามารถล้มได้
ส่วนการเลี้ยงกวางดาววินเดียร์ เป็นการเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ที่ฟาร์มภักดีฟาร์มแห่งนี้ถือเป็น 1 ใน 52 ฟาร์มทั่วประเทศ มีกวางรวมทั้งหมดประมาณ 1 หมื่นตัว แต่ที่ จ.พิษณุโลก ถือว่ามีแห่งเดียว ขณะที่ประเทศจีนเลี้ยงกวาง 3 ล้านตัวก็ยังถือว่าไม่เพียงพอ เนื่องจากคนจีนและคนรัสเซียชอบบริโภคเขากวางอ่อน อีกทั้งเป็นส่วนผสมของยาจีนหลายชนิด
นายภักดีทิ้งท้ายว่า เทียบกันแล้วเนื้อวัวนุ่มเพราะไขมัน แต่เนื้อกวางนุ่มเพราะเนื้อละเอียด ถือเป็นอาหารที่ไม่มีไขมัน อาหารคนรักสุขภาพ สเต๊กกวางทั่วไปน้ำหนัก 2 ขีด จานละ 500 บาท อย่างไรก็ตาม ตนกำลังจะเปิดสเต็กเฮ้าส์ และร้านกาแฟ ริมถนนสาย 12 พิษณุโลก-หล่มสัก บริเวณน้ำตกแก่งซอง อ.วังทอง ก่อนปีใหม่นี้ โดยนำเนื้อกวางที่ผ่านการชำแหละจากโรงงานมาตรฐาน จ.ราชบุรี มาให้บริโภคกัน
ส่วนผู้ที่จะเข้าชมฟาร์มก็มาได้ แต่ยังไม่ได้เปิดรับอย่างเป็นทางการ โดยอนาคตอาจทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแบบปั่นจักรยานรอบฟาร์มชมกวาง เป็นต้น