“ถึงคราวจัดระเบียบร่มเตียงชายหาดเมืองพัทยาหรือยัง?”
นี่คงเป็นคำถามที่ผู้คนจำนวนมากต้องการคำตอบ หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ได้ดำเนินการใช้มาตรการที่เด็ดขาดในการแก้ไขปัญหาความไม่เป็นระเบียบของผู้ประกอบการร่ม เตียงในพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์
อย่างไรก็ตาม จากกรณีการเผยแพร่คลิปฉาวที่มีลูกจ้างสัญชาติกัมพูชาใช้เท้าไปเตะทรายใส่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่มานั่งอาบแดดบริเวณหน้าหาดนวล ชุมชนบ้านเกาะล้าน
ถือว่าเป็นฉนวนเหตุให้ภาครัฐกลับมามอง และต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ไข และป้องกันปัญหาก่อนที่จะเกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวอย่างรุนแรงในอนาคต
พลันเมื่อเกิดปัญหาขึ้นที่เกาะล้าน นายคมสัน เอกชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ซึ่งถือว่ามีหน้าที่ในการกำกับดูแล จึงมีคำสั่งเร่งด่วนให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหา และจัดระเบียบร่มเตียงชายหาดเมืองพัทยาขึ้นเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหา และจัดระเบียบอย่างจริงจัง โดยรวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา กรมเจ้าท่า มทบ.14 สภ.เมืองพัทยา รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชน โดยเริ่มนำร่องในพื้นที่เกาะล้านซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเป็นอันดับแรก
สำหรับเกาะล้าน อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองพัทยา จากชายหาดเมืองพัทยาจะสามารถมองเห็นเกาะล้านได้ชัดเจน เพราะอยู่ห่างจากฝั่งออกไปเพียงประมาณ 7.5 กิโลเมตร การเดินทางโดยทางเรือเร็ว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาที และเรือโดยสารประมาณ 40 นาที หมู่เกาะล้านแต่เดิมเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ในนามว่า “หมู่เกาะปะการัง” (Coral Islands) เพราะอุดมไปด้วยปะการังนานาชนิด เป็นแหล่งปะการังที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งของประเทศ และใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุด โดยมีเกาะครก และเกาะสากเป็นบริวาร
ในอดีต เกาะล้านมีประชากรอาศัยสืบต่อๆ กันมาหลายชั่วอายุคน มีอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ ทำสวน และประมง ดังหลักฐานคือ ต้นมะพร้าวอายุกว่าร้อยปี จวบจนถึงปัจจุบันมีประชากรในเกาะล้านกว่า 10,000 คน ซึ่งจากตัวเลขที่ปรากฏชี้ให้เห็นว่า เกาะล้าน มีประชากรไม่หนาแน่นมากนัก แต่ข้อเท็จจริงแล้วประชากรในเกาะล้านอาศัยอยู่หนาแน่น
เนื่องจากเกาะล้านเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้มีการอพยพแรงงานจากถิ่นอื่นเข้ามาเป็นจำนวนมาก จึงมีประชากรแฝงมากกว่าจำนวนความเป็นจริง 3-4 เท่า โดยมิได้มีการแจ้งย้ายเข้ามาตามกฎหมายทะเบียนราษฎร์ ด้วยความที่เกาะล้านมีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการบริการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
การสร้างแหล่งท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึกไว้คอยบริการ รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวมากมาย ทั้งยังมีการจัดสร้างที่พักให้บริการนักท่องเที่ยวอยู่หลายแห่ง แม้ส่วนใหญ่เป็นที่พักเล็กๆ ไม่ใหญ่โตระดับโรงแรม 5 ดาว แต่ด้วยความที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชายหาดสวยงาม ปะการังที่ยังหนาแน่นอุดมสมบูรณ์ ผสมกับอัตราค่าบริการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่สูงนัก กิจกรรมกีฬาทางน้ำที่มีไว้บริการอยู่อย่างมากมาย และที่สำคัญยังมีพื้นที่ที่ไม่ห่างไกลจาก กทม.มากนัก
ปัจจุบัน จึงถือว่า เกาะล้าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างประเทศให้ความสนใจเดินทางมาพักผ่อนเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยแล้ววันละหลายพันคน และในอัตรานับหมื่นคนในช่วงวันหยุดยาว หรือไฮซีซัน
แต่จากความเติบโตทางการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม และพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน มาตรการควบคุมและป้องกันปัญหาด้านการท่องเที่ยวกลับพบว่า ยังคงไม่เด็ดขาด และมีประสิทธิภาพมากนัก ไล่ตั้งแต่ปัญหาของเรือเจ็ตสกีให้เช่าที่มีปัญหาการขูดรีดนักท่องเที่ยวบ่อยครั้ง ปัญหาเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยทางทะเลที่ยังไร้ประสิทธิภาพ รวมถึงเรื่องของการป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำเสีย หรือปัญหาขยะ
และล่าสุด กับปัญหาของผู้ประกอบการร่มเตียง หลังมีคลิปฉาวเผยแพร่ในโลก Social Media ที่มีลูกจ้างสัญชาติกัมพูชาใช้เท้าเตะทรายใส่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มานั่งอาบแดดบริเวณหน้าหาดนวล จึงเป็นกรณีสำคัญที่รัฐจะปล่อยปละละเลย หรือปล่อยผ่านไปไม่ได้ โดยเฉพาะก่อนหน้านี้ ทาง คสช.ได้มีมาตรการเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยการยกเลิกการประกอบการร่มเตียงในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และประจวบคีรีขันธ์
จังหวัดชลบุรี มีคำสั่งให้ นายศักดิ์ชัย แตงฮ่อ นายอำเภอบางละมุง ประสานร่วมกับแขวงเกาะล้าน มทบ.14 และ สภ.เมืองพัทยา ลงพื้นที่จัดระเบียบผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาดบนพื้นที่เกาะล้านทั้ง 7 หาดอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ หาดตาแหวน หาดนวล หาดแสม หาดเทียน หาดตายาย หาดสังวาลย์ และหาดทองหลาง จากจำนวนผู้ประกอบการ 78 ราย
สาระสำคัญคือ การเปิดพื้นที่ชายหาด ร่นระยะเตียงให้มีความเหมาะสม การเปิดช่องว่างระหว่างเตียง และการอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่มีใช้บริการ และพักผ่อนตามแนวชายหาด ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในระยะเวลา 3 วัน และมีการกำหนดให้มีการปฏิบัติใช้อย่างเคร่งครัดไปแล้ว
หลังเสร็จภารกิจการจัดระเบียบร่มเตียงชายหาดบ้านเกาะล้าน ก็มาถึงแนวทางการจัดระเบียบร่มเตียงในพื้นที่ชายหาดเมืองพัทยา และจอมเทียน ซึ่งถือเป็นพื้นที่หลักในการรองรับการท่องเที่ยว งานนี้ “เชาวลิตร แสงอุทัย” ปลัดจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ถึงกับต้องกุมขมับ หลังการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษ จำนวน 10 ชุด ที่ขนเอาปลัดมือปราบจาก 10 อำเภอในพื้นที่จังหวัดชลบุรีมาลงสำรวจข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงการละเว้น เพราะข้อมูลที่ได้รับพบว่าตลอดทั้งแนวชายหาดทั้ง 2 แห่ง จากจำนวนผู้ประกอบการรวมกว่า 400 รายนั้น พื้นที่ประกอบการส่วนใหญ่มีปัญหาในเรื่องของการขายเซ้ง เช่าช่วง สวมสิทธิทับกัน และประกอบการกินพื้นที่นอกมาตรฐานที่รัฐกำหนดเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ผู้ประกอบการตัวจริงนั้นเหลือเพียงประมาณ 30% เท่านั้น ที่น่าตกใจคือ มีการนำพื้นที่สาธารณประโยชน์ไปปล่อยให้เช่าในอัตรา 5,000-50,000 บาท และมีการขายต่อกันเป็นทอดๆในราคาตั้งแต่ 20,000 ไปจนถึง 1.8 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่ลักไก่จับจองพื้นที่ทำกินนอกเหนือที่รัฐอนุญาต โดยไม่พบว่ามีรายชื่อตามทะเบียนที่ลงบันทึกเป็นหลักฐานไว้ต่อเมืองพัทยา โดยแจ้งว่า ได้รับความเห็นชอบจากข้าราชการ และนักการเมืองท้องถิ่นบางคนที่อนุเคราะห์ให้ ซึ่งสุดท้ายกลับพบว่า มีการนำพื้นที่เหล่านี้ไปขายต่อหากินบนที่ดินสาธารณะอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เรียกได้ว่าการประกอบการร่มเตียงในปัจจุบันเหลวแหลก และไร้มาตรการควบคุมที่มีประสิทธิภาพ
จากนโยบายจังหวัดชลบุรี ก่อนหน้านี้ฟันธงชัดเจนว่าจะปรับลดพื้นที่ประกอบการร่มเตียงให้เหลือน้อยที่สุด โดยมีข้อกำหนดที่ชัดเจนว่า จะอนุญษตให้ผู้ประกอบการสามารถทำกินได้เพียง 1 รายต่อ 1 ล็อกในพื้นที่ 1 หาดเท่านั้น ขณะที่ผู้ครอบครองสิทธิจะต้องเป็นชาวบ้านที่ทำกินมานาน และสามารถถ่ายทอดเป็นมรดกให้แก่ลูกหลานได้เพียง 1 ช่วงคนเท่านั้น
ถือว่าเป็นนโยบายที่ตรงต่อความต้องการของสังคมที่อยากเห็นพื้นที่ชายหาดกลับมามีความสวยงามในแบบธรรมชาติที่ควรจะเป็น ละเลิกสิ่งที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เพื่อคืนความสวยงามให้แก่ชายหาดอีกครั้งเหมือนในอดีต ซึ่งนโยบายเหล่านี้ถือเป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ที่ทุกคนเฝ้ารอคอย
อย่างไรก็ตาม หลังการลงพื้นที่สำรวจหาข้อมูลของชุดปฏิบัติงานพบว่ากรณีดังกล่าวเริ่มมีแรงกระเพื่อมรุนแรง มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรม และใช้ลู่ทางทั้งทางสว่าง และเงามืดจากกลุ่มผู้เสียประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อม เพื่อขอผ่อนปรนแนวนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มกำลัง
งานนี้ไม่ทราบได้ว่า สุดท้ายกับภารกิจที่สังคมจับตามองนี้จะออกมาในรูปแบบที่ประชาชนต้องการ หรือเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการกันแน่ แต่ความเป็น “คมสัน เอกชัย” ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ที่เน้นการพัฒนา และการทำงานแบบโปร่งใส ก็ยังสร้างความมั่นใจให้แก่สังคมส่วนใหญ่ได้ว่างานนี้คงไม่มี “มวยล้ม” ซึ่งคงจะต้องรอดูกันต่อไป