แพร่/อุตรดิตถ์ - พบชาวสวน “ลางสาด” ผลไม้ขึ้นชื่อของอุตรดิตถ์-แพร่ เริ่มโค่นต้นลางสาดบนเทือกเขาผีปันน้ำที่เคยทำเงินให้ในอดีตทิ้ง หลังราคาตกจนขาดทุนกันถ้วนหน้า แต่ไม่วายมุ่งปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่อหนีไม่พ้นชะตากรรมเดิม
“เทือกเขาผีปันน้ำ” ในโซนลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำยม ที่ต่อเนื่องกันเป็นพื้นที่ที่มีความชื้นสูง มีสภาพเป็นป่าดงดิบ และอยู่บนภูเขาสูง 400-800 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นลุ่มน้ำที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำยม-แม่น้ำน่าน เป็นจุดสำคัญที่สามารถปลูกไม้ผลได้หลากหลาย โดยเฉพาะ ทุเรียน ลางสาด ลองกอง มังคุด เงาะ ต้นไม้ที่เป็นเครื่องเทศนานาชนิด ฯลฯ ได้ โดยไม่ต้องใช้เทคโนโลยีการจัดการน้ำ และป้องกันโรคมากมายนัก
รวมถึงต้นทุเรียน ที่ปลูกในป่าแถบนี้ไม่ต้องรดน้ำเป็นประจำแม้ในฤดูแล้ง เนื่องจากความชื้นสูง
ซึ่งในจังหวัดแพร่มีพื้นที่เช่นนี้อยู่ในเขต ต.ป่าแดง ต.ช่อแฮ ต.สวนเขื่อน อ.เมือง, ต.ห้วยไร่ ต.เด่นชัย อ.เด่นชัย ถือเป็นแหล่งความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชที่สำคัญนับ 100 ปีมาแล้ว เกษตรกรในแถบนี้ใช้เป็นพื้นที่ปลูกผลไม้ยังชีพมานาน และพืชเหล่านี้สัมพันธ์กับระบบนิเวศของป่า เป็นพืชท้องถิ่น และระบบการปลูกไม่ทำลายป่า เพราะต้องอาศัยความชื้นของป่าช่วยให้เจริญเติบโตดี
แต่ปัจจุบันการปลูกผลไม้แถบนี้เปลี่ยนแปลงไป เกษตรกรหันมาแผ้วถาง ตัดต้นไม้ออกจากขุนเขาเพื่อปลูกผลไม้ที่ตลาดต้องการ มีระบบการควบคุม เน้นปริมาณของไม้ผลที่ทำเงิน ชาวบ้านเรียกการปลูกผลไม้แบบใหม่ว่า เป็นสวนที่ปลูกตามหลักวิชาการ ไม่ได้ปลูกสะเปะสะปะเหมือนอดีต
“ลางสาด” คือไม้ผลทำเงิน ที่เกษตรกรนำมาปลูกในพื้นที่แถบนี้ จนกลายเป็นผลไม้เอกลักษณ์ของ ต.ด่านนาขาม อ.เมืองอุตรดิตถ์ และจังหวัดอุตรดิตถ์ ส่วนจังหวัดแพร่ ก็มีการปลูกลางสาดมากใน ต.สวนเขื่อน ต.ป่าแดง ต.ช่อแฮ อ.เมือง และ ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จนเป็นสินค้าขึ้นชื่อเช่นกัน
ด้วยปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความต้องการและห้วงเวลาการจำหน่ายผลไม้ไม่สัมพันธ์กับปริมาณที่ผลิตได้ ทำให้ต้องแย่งกันจำหน่าย และในที่สุดการแข่งขันสูงก็ทำให้ลางสาดราคาตก ทุเรียนป่าที่เคยมีรายได้บ้างก็ลดลงเช่นกัน
นางศรีนารัตน์ ต๊ะนะทิพย์ อายุ 45 ปี อยู่บ้านเลขที่ 114 หมู่ 12 บ้านหนองน้ำเขียว ต.ด่านนาขาม อ.เมืองอุตรดิตถ์ กล่าวว่า ที่บ้านปลูกลางสาดบนภูเขา 1 ลูก ประมาณ 1,000 ต้น อดีตปลูกห่างๆ คละไปกับไม้ป่า และต้นกล้วยป่า ตอนนั้นไม่เดือดร้อน แต่คิดว่ามีรายได้น้อย จึงตัดต้นไม้ป่าออก ปลูกลางสาดเต็มพื้นที่ แต่ผลออกมาคือ เก็บผลผลิตไม่ทัน เพราะลางสาดมีอายุผลแก่พร้อมกันในช่วงเดือนตุลาคม ถ้าเก็บตอนยังไม่สุกผลลางสาดจะมีรสเปรี้ยว
ดังนั้น ถ้าจะขายลางสาดอร่อยก็ต้องมาแข่งราคากันในช่วงออกสู่ตลาดพร้อมๆ กัน ซึ่งปีนี้ราคาต่ำกว่าทุกปี อยู่ที่กิโลกรัมละ 5-6 บาท ค่าจ้างเก็บกิโลกรัมละ 3 บาทแล้ว จะเหลือกี่บาท เมื่อเอาค่าขนส่ง ค่าดูแลสวนมาหักออก บางสวนต้องปล่อยให้ผลลางสาดร่วงหล่นไปอย่างน่าเสียดาย เพราะถ้าไปเก็บก็จะเสียเงินเพิ่มไม่ใช่จะได้กำไร
“มีเวลาก็เก็บมาขายตรงให้ผู้บริโภคข้างทางสายแพร่-อุตรดิตถ์ เป็นการขายปลีกวันต่อวันพอทำกำไรได้ แต่ไม่สามารถเก็บมาจำหน่ายได้มากๆ เพราะไม่คุ้มค่าจ้าง”
นางธัญญา พิยะ อายุ 37 ปี อยู่บ้านเลขที่ 235 หมู่ 2 ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ กล่าวว่า ใน ต.ห้วยไร่ อ.เด่นชัย ปลูกลางสาดกันมาก 3 หมู่บ้าน ตรงเขตติดต่ออุตรดิตถ์ วันหนึ่งๆ จะมีลางสาดออกสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 15-20 ตัน ปีนี้ราคาตก จนหลายคนต้องหยุดเก็บขาย ก็ส่งผลไปถึงสภาพเศรษฐกิจระยะยาว อยากให้ทางการเข้ามารับซื้อมากๆ ขณะนี้มีมาซื้อบรรจุกล่อง 300 กล่องเท่านั้น ไม่ถึงตัน คงไม่มีผลอะไรต่อชาวบ้านที่เผชิญกับปัญหา และกว่าจะได้แนวทางช่วยเหลือ ผลผลิตลางสาดก็คงร่วงหล่นลงดินจนหมดฤดูไปแล้ว
นางสุนีย์ คำเมือง อายุ 40 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 12 ต.ด่านนาขาม กล่าวว่า มีชาวสวนหลายรายต้องตัดสินใจโค่นต้นลางสาดทิ้ง แล้วนำผลไม้ และพืชอื่นๆ มาแทน บางคนใช้วิธีการเปลี่ยนยอดลางสาดให้เป็นลองกอง ปีนี้มีผลผลิตจากการเปลี่ยนยอดออกมามากเหมือนกัน แม้ราคาลองกองก็ตก แต่ยังคุ้มต่อการลงทุน
“หลายคนเปลี่ยนไปปลูกยางพารา คาดหวังว่าจะมีรายได้จากการกรีดยางแทนลางสาด แต่ดูเหมือนจะเจอปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้”
นายวิฑูรย์ สุรจิตร ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดแพร่ กล่าวว่า ปัญหาลางสาดล้นตลาดก็เหมือนพืชเชิงเดี่ยวอื่นๆ ที่ล้นตลาด เมื่อก่อนลางสาดแพร่ อุตรดิตถ์ไม่มีปัญหาผลผลิตล้นตลาด และไม่มีปัญหาต้นทุน เพราะใช้ธรรมชาติและเวลาว่างไปปลูกแทรกในป่า แต่ปัจจุบันเกษตรกรมุ่งที่จะขาย และมุ่งที่จะรวย หวังผลลางสาดจะทำให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้ เร่งปลูกให้มากๆ จนสภาพป่าที่อยู่รอบๆ ต้นลางสาดหมดไป
ปัญหาที่ตามมาคือ หญ้า วัชพืชมากขึ้น โรคแมลงมากขึ้น ภารกิจของเจ้าของสวนก็มากขึ้น การจะหลุดพ้นจากภาวะเหล่านี้คือ ต้องใช้ตัวช่วย ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฮอร์โมนเร่งต่างๆ ตลาดเดิมที่มีพ่อค้าไปซื้อถึงสวน ไปเก็บเอง วันนี้พ่อค้าไม่ต้องไปที่สวนแล้ว เพราะปริมาณที่มากทำให้ชาวสวนต้องนำออกมาเร่ขาย ชิงขายก่อน ไม่ต้องรอให้หวาน
“ผลไม้ถูกควบคุมโดยตลาด ถ้าราคาแพงก็แย่งกันขาย ถ้าราคาตกก็ล้มเหลวทางเศรษฐกิจ เรียกร้องขอให้รัฐช่วย เมื่อก่อนไม่มีปัญหาเหล่านี้เลย”
นายวิฑูรย์บอกว่า การฟื้นฟูตลาดผลไม้ ฟื้นฟูสวนผลไม้ วิธีคิดของชาวสวนผลไม้มีความสำคัญมากกว่าการนำงบประมาณเข้าไปช่วยซื้อ สำนึกเก่าๆ ที่ใช้หลักการพึ่งพาธรรมชาติ ปลูกแบบผสมผสาน มีผลผลิตหลายชนิด เก็บได้ทั้งปี มีผลไม้หลากหลาย ทั้งผักป่า ไม้ใช้สอย ชาวสวนในอดีตไม่เคยเดือดร้อน
แต่วันนี้ วันที่ราคาลางสาดตกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่มีทางอื่นแล้ว ชาวสวนไม่ปรารถนาต้นลางสาดอีกต่อไป หลายสวนโค่นล้มทิ้งเพื่อปลูกพืชผลเกษตรชนิดอื่นแทน เช่น ยางพารา ลองกอง ทุเรียนหมอนทอง ฯลฯ กำลังเป็นที่สนใจ
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นไปที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่อาจมีชะตากรรมเดียวกับ “ลางสาด” เช่นกัน