xs
xsm
sm
md
lg

แฉเบื้องหลังปั่นกระแส “แก่งเสือเต้น” เกมปั้นงบตบทรัพย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพร่ - ชำแหละเบื้องหลังเกมปลุกผี “เขื่อนแก่งเสือเต้น-เขื่อนยมบน ยมล่าง” รอบใหม่ พบเงื่อนงำการปั้นกระแสน้ำท่วม-ภัยแล้ง ทำงบกันประจำทุกปี ทั้งที่ชุมชนท้องถิ่นคิดทำแค่เหมืองฝายกั้นน้ำยมมาตั้งแต่ปี 2500 ก็สามารถเก็บน้ำ-ป้อนน้ำได้ทั้งจังหวัด กลับถูกเมิน

วันนี้ (4 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ห้วงก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2558 ที่ผ่านมา กระแสข่าวความพยายามปลุกปั้นโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น-เขื่อนยมบน ยมล่าง กั้นกลางน้ำยม พื้นที่จังหวัดแพร่ ผุดโผล่ขึ้นมาอีกครั้ง โดยหยิบยกปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้งมาสนับสนุนเดินเรื่อง จนทำให้กระแสต่อต้านจากคนในพื้นที่เป้าหมายสร้างเขื่อน คือ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ลุกโชนอีกรอบ

กระแสข่าวสร้างเขื่อนกั้นน้ำยมรอบใหม่ปี 58 นี้ เริ่มจากผู้บริหารระดับจังหวัด กรมชลประทาน แกนนำภาคอุตสาหกรรม หอการค้า พยายามที่จะฟื้นฟูโครงการเขื่อนกั้นลำน้ำยม มีการเรียกผู้เกี่ยวข้องประชุมไปแล้วถึง 5 ครั้ง และมีมูลนิธิอุทกพัฒน์ - ศูนย์น้ำจังหวัดแพร่ รวมอยู่ด้วย

ส่งผลให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบใน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนชัย, บ้านดอนแก้ว, บ้านแม่เต้น และบ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านอีก คณะกรรมการต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น นำโดยนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ได้เรียกประชุมชาวบ้านที่วัดดอนชัย เพื่อหามติทำแนวทางการต่อต้านการรุกเข้ามาของรัฐในการพยายามสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อีกครั้ง

ชาวบ้านมีมติเอกฉันท์ให้ร้องไปยังกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ถึงพฤติกรรมของทางภาครัฐที่ไม่เดินตามกฎหมายและข้อตกลงประชาคม, ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของทางจังหวัดแพร่ที่ดำเนินการผลักดันสร้างเขื่อนโดยไม่แจ้งให้ชาวบ้านได้รับทราบที่มาที่ไป และออกประกาศเขตห้ามเข้าสำหรับกลุ่มนักสร้างเขื่อนโดยเด็ดขาด พร้อมขู่ว่า “ถ้าไม่ฟังก็อาจต้องใช้ความรุนแรง”

โดยชาวบ้านได้ร่วมกันทำป้ายติดที่บริเวณทางเข้าของหมู่บ้าน เป็นการลุกขึ้นตั้งรับสถานการณ์และพร้อมเผชิญหน้าอีกครั้ง หากรัฐบาล หรือผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ยังคงเดินหน้าผลักดันการสร้างเขื่อนกั้นน้ำยมต่อไป

ล่าสุด นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการต้านโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ใน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ และคณะ กว่า 10 คน ได้เข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต่อหน้าตัวแทนภาครัฐ ประกอบด้วย ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่, ตัวแทนนายอำเภอสอง, ตัวแทนจากกรมชลประทาน ที่เข้าร่วมให้ข้อมูลเมื่อ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา

นายสมมิ่งกล่าวว่า ชาวสะเอียบที่ติดตามการทำงานของภาครัฐมาตลอด มองว่าทางราชการ หรือกลุ่มผลประโยชน์ในประเทศนี้ยังมีความพยายามที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ตลอดเวลา ในขณะที่ชุมชนสะเอียบ และเครือข่ายลุ่มน้ำยม ต้องการมีแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนมากกว่าเขื่อนใหญ่ คำพูดจากรัฐที่น่าเชื่อถือได้เกิดขึ้นหลังปฏิวัติ คสช.ที่สั่งให้มีการจัดเวทีประชาคมน้ำภาคเหนือ ที่พิษณุโลก

แม้ว่า คสช.จะดำเนินการตามความต้องการของมติประชาคม แต่ข่าวที่ชาวบ้านรับทราบคือ ภาครัฐมีความพยายามสร้างเขื่อนใหญ่อีกครั้ง

โดยขณะนี้แม้กระแสของความขัดแย้งจะคลี่คลายลงแล้ว เมื่อทุกฝ่ายไปพบกันที่ห้องประชุม กสม.แต่เป็นที่น่าสงสัยว่า การตกลงพัฒนาลุ่มน้ำยมทำไม จึงไม่รู้จบหรือหาข้อยุติไม่ได้ ทุกครั้งที่มีวิกฤตน้ำท่วม หรือน้ำแล้ง แม้วิกฤตที่ไม่ได้เกิดขึ้นที่จังหวัดแพร่ แต่ประเด็นการสร้างเขื่อนใหญ่ก็เกิดขึ้นมาทุกครั้งทุกๆ ปี โดยเฉพาะในช่วงที่จะมีการทำแผนงานงบประมาณ

นายวัฒนา ผาทอง รองนายก อบจ.แพร่ ในฐานะกำกับดูแลศูนย์น้ำ จังหวัดแพร่ กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ โดยนายอนุวัธ วงศ์วรรณ นายก อบจ.แพร่ มองเห็นว่า แนวคิดของคนในท้องถิ่นอาจไม่เหมือนของส่วนกลาง ชาวแพร่ไม่กลัวน้ำท่วมแต่กลัวน้ำแล้งมากกว่า

การพัฒนาที่ผ่านมามีความแตกต่างกัน แพร่ มีน้ำยมไหลผ่านกลาง ภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ ปี พ.ศ. 2500 คนในอดีตคิดพัฒนาฝายแม่ยมขึ้นมา ทำระบบส่งน้ำเหมือนฝายชาวบ้าน ไม่ต้องใช้เครื่องมือเครื่องจักรอะไรมากนัก สามารถส่งน้ำทำการเกษตรได้กว่า 200,000 ไร่ และถ้ายกระดับฝายแม่ยมขึ้นเหนือไปอีก จะสามารถทดน้ำไปตามเหมืองฝายได้ในวงกว้างกว่าเดิมเป็นวงที่ 2 นำน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ เช่น อ่างแม่ยาง แม่คำมี และอ่างสำคัญๆ ใน 16 ลุ่มน้ำสาขาของแม่ยมได้ สามารถสร้างพื้นที่ชลประทานได้เกือบทั้งจังหวัด

แต่พอปี 2519 มีการเชื่อมโยงฝายไปสู่การผลิตพลังงานไฟฟ้า กลายเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องเพิ่มความสูงสันเขื่อน มีข้อมูลน้ำท่วมป่า ท่วมชุมชน เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมาจนกลายเป็นประเด็นมาจนถึงปัจจุบัน

“ถ้าคิดเพียงดูแลน้ำให้ทั่วถึงเช่นความคิดของคนในอดีตคงไม่เกิดปัญหาความขัดแย้งตามมา” นายวัฒนากล่าวย้ำ

นายวัฒนากล่าวอีกว่า เราคิดกันแล้วว่าจะมุ่งพัฒนา 16 ลำน้ำสาขาแม่ยม ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องไปพัฒนาเขื่อนใหญ่ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เคยเอามาคิดเลย เพราะเรารู้ว่าแผนเหล่านั้นเป็นตัววิ่งงบประมาณ ทุกปีมีข่าวน้ำท่วม น้ำแล้ง ก็จะระบุว่าปัญหาอยู่ที่จังหวัดแพร่ไม่พัฒนา สุดท้ายทางออกของหน่วยราชการก็คือ การของบประมาณ ซึ่งงบประมาณที่ขอมาเพื่อพัฒนาลุ่มน้ำยมครั้งละมากๆ เป็น 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่แล้วเงินเหล่านั้นหายไปไหนไม่รู้ หรือละลายไปตามกระแสน้ำ หรือผีเขื่อนเอาฝังดินไว้ ดังนั้น เมื่อมีการประโคมข่าวกันครั้งใดก็พอทราบได้ว่าเขาเหล่านั้นกำลังผลาญงบประมาณ

เมื่อประเมินดูแล้วน่าสงสัยว่า จังหวัดแพร่กลายเป็นแหล่งหางบประมาณให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งที่เป็นหน่วยงานกลางในการพัฒนาน้ำหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิด และชาวแพร่ต้องมาคุยกันแล้วว่าทิศทางพัฒนาแหล่งน้ำควรทำอย่างไรมากกว่าให้หน่วยงานกลางมาคิด

“ทุกปีน้ำเข้าแพร่ 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อรวมน้ำในจังหวัดแล้ว น้ำออกจากแพร่ไปสุโขทัย 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะเดียวกันแพร่เก็บน้ำได้เพียง 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ความต้องการมีอยู่ 1,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้ามีการกักเก็บที่ดีพอปริมาณน้ำที่ใช้ในจังหวัดแพร่จะมีอย่างเพียงพอ” นายวัฒนากล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น