ลำพูน - ชาวบ้านป่าบง ลำพูนกว่า 200 คนรวมตัวเรียกร้องอ่างเก็บน้ำ “ห้วยดอยแล” งบร่วม 10 ล้านบาท ร้อง คสช.เข้าดูแลเรื่องการอนุญาตหลังป่าไม้เพิกเฉยการขอเข้าใช้พื้นที่ที่รอกันมานานกว่า 15 ปี
วันนี้ (10 ต.ค.) ได้มีชาวบ้านป่าบง บ้านหนองหล่ม กว่า 200 คน รวมตัวกันที่บริเวณป่าท้ายหมู่บ้าน หมู่ที่ 9 ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เพื่อเรียกร้องผ่าน คสช.ให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาด 5 แสนคิว
สืบเนื่องจากการที่ชาวบ้านตำบลศรีบัวบานได้ทำการขอโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ห้วยนางแล ขนาดความจุ 5 แสนคิวเพื่อประโยชน์ในด้านการเกษตร ประมาณ 2 หมื่นไร่เศษ ซึ่งพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนโซนซี บ้านป่าบง หมู่ที่ 9 บ้านป่าบง ตำบลศรีบัวบาน มานานกว่า 15 ปี แต่ยังไม่ได้รับอนุญาตการให้ใช้พื้นที่ของกรมป่าไม้
โดยในวันนี้ชาวบ้านได้นัดรวมตัวกัน โดยมีการเชิญเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเดินทางมารับหนังสือข้อเรียกร้องของชาวบ้าน โดยฝ่ายชาวบ้านมีผู้นำชุมชนในพื้นที่ เช่น นายศรีแก้ว กันทะคะยอม กำนันตำบลศรีบัวบาน นางประยงค์ แก้วกาศ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 และนายสมบัติ ใจแจ่ม นายกเทศมนตรีตำบลศรีบัวบาน
นายสมบัติ ใจแจ่ม นายกเทศมนตรีตำบลศรีบัวบาน เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวมีการเรียกร้องและเตรียมความพร้อมมานานกว่า 15 ปี โดยชาวบ้านทั้งหมดมีความพร้อมและเห็นตรงกันว่าต้องการให้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยนางแล เพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรที่มีมากกว่า 2 หมื่นไร่
โดยมีการยื่นเรื่องตามขั้นตอนต่างๆ และมีการติดตามเรื่องมาตลอด จนล่าสุดทางกรมที่ดินได้อนุมัติโครงการแบบเลขที่ 10756 รหัสโครงการ ลพ 0356 งบประมาณในการดำเนินการก่อสร้างจำนวน 9,997,000,00 ล้านบาท (เก้าล้านเก้าแสนเก้าหมื่นเจ็ดพันบาทถ้วน) มาแล้ว และมีการประกาศประกวดราคาก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
กำหนดยื่นซองเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา และกำหนดเสนอราคาในวันที่ 17 ตุลาคม 2557 ที่จะถึงนี้ บริเวณสถานีพัฒนาที่ดินลำพูน แต่ปัญหาติดอยู่ที่กรมป่าไม้ ซึ่งยังไม่อนุญาตการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ป่า
นายสมบัติยังกล่าวอีกว่า ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านเกรงว่าการก่อสร้างจะมีปัญหา จึงพากันมารวมตัวเพื่อเรียกร้องและยื่นหนังสือถึงส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป ในส่วนของเทศบาลฯ หากมีการก่อสร้างแล้วเสร็จจริงๆ ทางเทศบาลฯ ก็จะพาชาวบ้านไปปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่เสียไปเพื่อเป็นป่าชุมชนและแหล่งต้นน้ำ