xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนาอ่างทองลงมือทำนากันแล้ว ผู้ว่าฯ สิงห์บุรีถกวางแผนรับมือภัยแล้งหลังเกษตรกรได้รับผลกระทบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สิงห์บุรี/อ่างทอง - ผู้ว่าฯ สิงห์บุรี เรียกประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้อง วางแผนการบริหารจัดการน้ำหลังพบว่า เกษตรกรบางส่วนเริ่มได้รับผลกระทบ ขณะที่ชาวนาอ่างทอง ในพื้นที่ทุ่งนาตำบลอินทประมูล ลงมือทำนากันแล้ว เผยไม่หวั่นภัยแล้ง เนื่องจากได้เตรียมสูบน้ำจากบ่อบาดาล และแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเอาไว้แล้ว

วันนี้ (10 ต.ค.) นายชโลธร ผาโคตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมด้วย นายณรงค์ อ่อนสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เรียกประชุมด่วนหน่วยงานสังกัดกรมชลประทาน และหน่ายงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการวางแผนการบริหารจัดการน้ำรับมือต่อภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี โดยหาแนวทางในการจัดสรรน้ำให้เกษตรกร พร้อมกับกำหนดมาตรการการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบในการงดการทำนาปรังรอบใหม่นี้ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนมีน้อย ซึ่งอาจจะไม่เพียงพอต่อการทำนา และเรียกร้องให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อแก้ไขปัญหาแทน

นายชัยพร ธรรมภักดี ผู้อำนวยการโครงการชลประธานสิงห์บุรี กล่าวว่า ขอให้เกษตรกรในพื้นที่ควรงดทำนาปรัง เพราะน้ำในแหล่งน้ำมีน้อย และต้องนำมาบริหารจัดการในส่วนของน้ำอุปโภคบริโภค

นายบุญรอด โตมี บ้านเลขที่ 100 หมู่ 3 ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ตนทำนากว่า 100 ไร่ มีอายุข้าวเกือบ 2 เดือน อยู่ระหว่างการตั้งท้อง ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งไม่มีน้ำทำนา และอยากให้ช่วยในการจัดสรรน้ำ และช่วยเหลือในการขุดลอกคลอง เนื่องจากมีสภาพวัชพืชขวางทางน้ำจำนวนมาก

นายประสันตา ศรีมานพ อายุ 65 ปี บ้านเลขที่ 82 หมู่ 3 ต.บางกระบือ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี กล่าวว่า ตนทำนาปรัง พันธุ์ กข 41 จำนวน 11 ไร่ อายุข้าวได้ 1 เดือน รู้สึกกังวลในการที่ชลประทานจะหยุดการจ่ายน้ำทำนา ซึ่งอาจทำให้ได้รับความเสียหายได้ จึงอยากจะให้ปล่อยน้ำเพิ่มเติมยืดระยะเวลาออกไปอีก

ส่วนในพื้นที่ จ.อ่างทอง ที่บริเวณกลางทุ่งนา ต.อินทประมูล อ.โพธิ์ทอง พบว่า ขณะนี้ชาวนาได้เร่งรีบทำนากันแล้ว พร้อมกับมีการวางแผนเตรียมที่จะสูบน้ำจากแหล่งธรรมชาติ และน้ำบาดาลเข้าในนาหากต้องประสบกับภัยแล้ง หรือขาดแคลนน้ำจากการทำนาในช่วงนี้

นางสายรุ้ง สังขวุฒิ อายุ 53 ปี ชาวนาในนา ต.ทุ่งอินทประมูล เปิดเผยว่า ตนเองทำนาเช่าจำนวน 20 ไร่ และในชีวิตทำนามาตลอด ต้องสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวจึงต้องเร่งปลูกข้าวแม้จะต้องเสี่ยงต่อภัยแล้งที่จะมาถึงก็ตาม แต่ตนก็ได้เตรียมตัวแก้ปัญหาไว้แล้ว เนื่องจากมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่อยู่ใกล้กับแปลงนา และที่บริเวณนาของตนนั้นมีน้ำบาดาลไว้ใช้ในยามภัยแล้ง หากไม่มีน้ำก็จะสูบน้ำขึ้นมาใช้

นายอนันต์ เสมอใจ อายุ 63 ปี ชาวนาในทุ่งนา ต.อินทประมูล อีกราย กล่าวว่า ตนทำนา จำนวน 38 ไร่ อยู่ในที่ลุ่ม และได้ขุดบ่อบาดาลเพื่อเตรียมไว้สูบน้ำทำนาในช่วงฤดูแล้งแล้ว และต้องเร่งทำนาปลูกข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวภายใน 90 วัน สำหรับเรื่องขาดแคลนน้ำทำนานั้นตนพอมีทางแก้ไขได้ แต่ขอให้ราคาข้าวดีอย่างเดียวก็พอ

“ผมทำนานมาตลอดชีวิต ถ้าจะให้หันไปทำอย่างอื่นซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่ถนัดผมคงลำบากกว่านี้แน่” นายอนันต์ กล่าว

ขณะที่เจ้าหน้าที่ชลประทานจังหวัดอ่างทอง และเจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัดอ่างทอง ได้แจ้งเตือนชาวนาในพื้นที่อ่างทองว่า ในช่วงฤดูแล้งของปีนี้ขอให้ทุกฝ่ายใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อลดปัญหากระทบกันเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ไม่มีแผนการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรัง

ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรรับฟังข้อมูลข่าวสารจากทางราชการ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และหากมีการใช้น้ำทำนาปรังปริมาณน้ำที่ระบายมาจากเขื่อนจะถูกนำไปใช้ในระหว่างทาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อน้ำจืดไปไล่น้ำเค็มมีไม่เพียงพอ และกระทบต่อไปยังการผลิตน้ำประปา เนื่องจากปัญหาค่าความเค็มที่สูงขึ้น รวมถึงภาคการเกษตรอื่นๆ เช่น ผัก ผลไม้ และการเลี้ยงปลาในกระชัง จะเสียหายหมด หากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีค่าความเค็มสูงในช่วงฤดูแล้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น