xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ผวาเรียกถกด่วน! โคราชส่อแล้งวิกฤตสุดรอบ 10 ปี น้ำ 5 เขื่อนใหญ่เหลือแค่ 50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าฯ นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา-โคราชส่อแล้งวิกฤตสุดในรอบกว่า 10 ปี ผู้ว่าฯ ผวาเรียกถกด่วนเตรียมรับมือ เผยปลายฝนน้ำในเขื่อนใหญ่ 5 แห่ง น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยเหลือแค่ 50% สั่งเร่งสูบน้ำจากห้วยหนองคลองบึง มาเก็บสำรองไว้ผลิตประปา และลดพื้นที่นาปรังจาก 1.8 แสนไร่ เหลือ 6,000 ไร่ ชี้ฝนตกน้อยเท่าปี 2547 ที่ประสบภัยแล้งหนัก ซ้ำร้ายคาดปรากฏการณ์เอลนิโญลากยาวถึง 2 ปี

วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ห้องประชุมสำนักชลประทานที่ 8 นครราชสีมา ถ.สืบศิริ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้เรียกประชุมเตรียมแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดนครราชสีมา ปี 2558 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานทหารเข้าร่วมกว่า 100 คน ทั้งนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา

นายธงชัย กล่าวว่า การเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งนี้เพื่อกำหนดแนวทาง และวิธีการปฏิบัติในการรับมือต่อภัยแล้งที่กำลังจะมาถึงอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่สั่งการให้แต่ละจังหวัดได้เตรียมการรับมือเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น สำหรับ จ.นครราชสีมา ถือว่าอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากปริมาณน้ำฝนปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมามาก และจากรายงานยังพบว่า ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่ จ.นครราชสีมา ประสบภาวะวิกฤตแล้งหนักที่สุด

โดยปีที่ผ่านมา อ่างเก็บน้ำทั้งขนาดใหญ่ และขนาดกลาง ของ จ.นครราชสีมา มีปริมาณน้ำเต็ม100% ทุกอ่าง แต่ปีนี้โดยเฉพาะเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ที่สุด เหลือปริมาณน้ำเพียง 147 ล้าน ลบ.ม .คิดเป็น 46% ของขนาดความจุ 314 ล้านลบ.ม. เท่านั้น และโดยเฉลี่ยแล้วอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 5 แห่ง ของ จ.นครราชสีมา คือ เขื่อนลำตะคอง ลำพระเพลิง ลำมูลบน ลำแชะ และลำปลายมาศ ล่าสุด เหลือปริมาณน้ำประมาณ 50% ของขนาดความจุรวมเท่านั้น ทั้งที่เป็นช่วงปลายฤดูฝนแล้ว

ปัจจัยเหล่านี้คือสิ่งบอกเหตุว่า จากนี้ไปเราจะเผชิญต่อปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร เพื่อการเลี้ยงสัตว์ในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ รวมทั้งน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น เขตอุตสาหกรรมนวนคร เขตอุตสาหกรรมสุรนารี ฉะนั้นจึงต้องมาวางแผนรับมือต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น และที่หนักไปกว่านั้นคือ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญอาจจะยาวนานต่อเนื่องไป 2 ปี

นายธงชัย กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตภัยแล้งที่จะมาถึงประกอบด้วย 1.น้ำอุปโภคบริโภค ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติคือ น้ำผิวดินมีน้อยต้องเอาน้ำใต้ดินขึ้นมาใช้ โดยสั่งการให้ทั้ง 32 อำเภอ สำรวจบ่อบาดาลทั้งหมดที่มีอยู่ในพื้นที่แล้วจัดจำแนกบ่อบาดาลที่ใช้การได้มีจำนวนเท่าไร บ่อที่ชำรุดต้องซ่อมทันทีให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์มีจำนวนเท่าไร เพื่อคำนวณงบประมาณเร่งดำเนินซ่อมแซม รวมทั้งบ่อบาดาลที่ชำรุดมาก หากจำเป็นก็ต้องซ่อมแซมเตรียมไว้ เพื่อเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค

2.แหล่งน้ำผิวดิน ได้เชิญผู้จัดการประปาส่วนภูมิภาคทั้งหมดของ จ.นครราชสีมา เช่น อ.เมืองนครราชสีมา โชคชัย ชุมพวง ปากช่อง และ อ.ด่านขุนทด มาร่วมหารือ ในวันที่ 15 ต.ค. นี้ เพื่อเตรียมหาแหล่งน้ำสำรอง หากที่ไหนน้ำยังค้างตามลำห้วย หนอง คลองบึง ต้องสูบมาสต๊อกในแหล่งเก็บกักน้ำดิบสำหรับผลิตประปาได้แล้ว โดยเฉพาะพื้นที่ดินเค็ม เช่น อ.ด่านขุนทด สูบน้ำใต้ดินไม่ได้ ขุดใหม่ไม่ได้ ต้องเอาน้ำผิวดินมาสำรองไว้มากๆ ส่วนพื้นที่ใดไม่มีเครื่องสูบน้ำระยะไกลให้ใช้แบ็กโฮ หรือรถขุดทำการขุดเปิดทางน้ำให้ไหลมาใกล้แหล่งเก็บกักน้ำแล้วระดมใช้รถไถเดินตามสูบน้ำเข้าไปเก็บกักไว้

นายธงชัย กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ แผนงานต่างๆ ต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป คาดว่าน้ำที่อยู่ตามลำห้วย หนองคลอง บึง ต่างๆ น่าจะเหลือไม่เกินวันที่ 15 พ.ย. นี้ และ ขอให้ อบต. เทศบาล อบจ. ใช้เงินสะสมที่มีอยู่ หรือเงินสำรองงบกลางของท้องถิ่นมาเป็นค่าน้ำมัน ค่ากระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำทั้งหมด เพื่อใช้เป็นน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับพี่น้องประชาชน ส่วนน้ำเลี้ยงสัตว์ โค กระบือ และอื่นๆ ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.ทั้งหมดไปจัดหาถุงทรายเพื่อนำไปวางกั้นลำห้วยขนาดกลางขนาเล็กต่างๆ เป็นช่วงๆไว้เพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์

สำหรับน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมนั้น เขตอุตสาหกรรมสุรนารี อ.เมืองนครราชสีมา ใช้น้ำบาดดาลทั้งหมด ขณะที่เขตอุตสาหกรรมนวนคร อ.สูงเนิน มีการสูบน้ำมาสต๊อกไว้แล้วกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดว่าสามารถรองรับได้ไปจนหมดฤดูแล้ง

ด้านการปลูกข้าวนาปรังของเกษตรกรนั้น ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งหมดเหลือเฉลี่ยไม่ถึง 50% ของขนาดความจุรวม เมื่อคำนวณแล้วจะต้องงดปลูกข้าวนาปรังในหลายพื้นที่ จากเดิมมีการปลูกข้าวนาปรังกว่า 1.8 แสนไร่ ปีนี้ทางชลประทานส่งเสริมให้ปลูกได้แค่ 6,000 ไร่เท่านั้น โดยเขตโครงการชลประทานลำตะคอง ลำพระเพลิง และลำแชะ ให้งดทำนาปรังโดยสิ้นเชิง

ฉะนั้น จึงขออยากฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรด้วย ซึ่งทางจังหวัดฯ กำลังหาวิธีการในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนอยู่ เบื้องต้นจะนำพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อยตระกูลถั่วมาส่งเสริมปลูกแทน



กำลังโหลดความคิดเห็น