ฉะเชิงเทรา - นักดาราศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวแปดริ้ว ชวนประชาชนชมปรากฏการณ์ “จันทรุปราคา“ เต็มดวงที่จะเกิดขึ้นเหนือชายขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกของไทย 8 ต.ค.นี้ ก่อนถึงวันออกพรรษา
วันนี้ (7 ต.ค.) นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิต นักดาราศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาว อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวย้ำเตือนถึงผู้ที่สนใจเฝ้าสังเกตการณ์ชมปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นเหนือขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกของประเทศไทย ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ต.วังเย็น อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ในช่วงก่อนพลบค่ำของเย็นวันพรุ่งนี้ (8 ต.ค.) ซึ่งตรงกับวันออกพรรษาพอดี จะเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา หรือตามภาษาชาวบ้านอาจเรียกว่า “กบกินเดือน” แบบเต็มดวง
สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ ในประเทศไทยจะสังเกตเห็นได้ในทันทีหลังจากดวงจันทร์ขึ้นจากขอบฟ้าในช่วงก่อนพลบค่ำ ซึ่งเป็นช่วงกลางที่กำลังเคลื่อนเข้าสู่ในช่วงท้ายของการเกิดปรากฏการณ์ ที่เงาของโลกเริ่มจะคลายตัวออกจากดวงจันทร์ โดยหากมองจากตาเปล่าจะเห็นดวงจันทร์แหว่งที่ด้านบน จากนั้นจะค่อยๆ คลายตัวออกจนสิ้นสุดปรากฏการณ์ โดยจะสามารถสังเกตเห็นได้ในระยะเวลาประมาณ 2 ชม. สำหรับในประเทศไทย
นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า ผู้ที่สนใจชมปรากฏการณ์นั้น ควรมองหาที่โล่งที่สามารถมองเห็นขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกได้อย่างชัดเจน ซึ่งหากในวันดังกล่าวไม่มีเมฆฝน ผู้ติดตามสังเกตการณ์ก็จะได้ชมภาพปรากฏการณ์ได้อย่างสวยงาม คือ ภาพดวงจันทร์ดวงใหญ่ๆ ที่เหนือขอบฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการหักเหของแสงดวงจันทร์ในวันนั้นจะมีสีออกเข้มๆ คล้ายกับดวงจันทร์สีเลือด ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถทำการถ่ายภาพได้ด้วยกล้องถ่ายภาพทุกชนิด ทั้งกล้องจากโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์การถ่ายภาพต่างๆ เก็บไว้ได้ด้วย
สำหรับเวลาในการเกิดปรากฏการณ์นั้น ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเงามัวในเวลา 15 นาฬิกา 15 นาที 36 วินาที ดวงจันทร์เริ่มสัมผัสเข้าสู่เงามืดเวลา 16 นาฬิกา 14 นาที 48 วินาที ดวงจันทร์เข้าคราสเต็มดวงในเวลา 17 นาฬิกา 25 นาที 9 วินาที เข้าถึงกึ่งกลางคราสหรือคราสลึกสุดในเวลา 17 นาฬิกา 55 นาที 44 วินาที โดยดวงจันทร์เริ่มออกจากเงามืดเวลา 18 นาฬิกา 23 นาที 59 วินาที ดวงจันทร์จะหลุดออกจากเงามืดทั้งดวงในเวลา 19 นาฬิกา 34 นาที 19 วินาที ดวงจันทร์จะออกจากเงามัว และสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 20 นาฬิกา 33 นาที 39 วินาที
โดยปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในครั้งนี้ สามารถมองเห็นได้ทั้งจากทวีปอเมริกา ในมหาสมุทรแปซิฟิก ทวีปเอเชีย และออสเตรเลีย ส่วนทวีปยุโรป และทวีปแอฟริกาไม่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้