ระยอง - กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง มอบอำนาจให้นายกสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน ฟ้องเพิกถอนกรณีโรงงานขอเช่าพื้นที่ทางและลำรางสาธารณประโยชน์ เอื้อประโยชน์เขตประกอบการอุตสาหกรรม
วันนี้ (5 ต.ค.) นางพยูง มีสบาย แกนนำกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง ต.บ้านแลง อ.เมือง จ.ระยอง กล่าวว่า กลุ่มได้ร่วมกับชาวบ้านลงชื่อคัดค้านการขอถอนสภาพทาง และลำรางสาธารณประโยชน์ ต.บ้านแลง ที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านแลง อนุญาตให้บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ขยายโรงงานอุตสาหกรรม โดยมอบอำนาจให้ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองระยอง
นางพยูง กล่าวว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อผู้รุกล้ำทาง และลำรางสาธารณประโยชน์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ บิดเบือนข้อเท็จจริงว่าประชาชนทุกหมู่บ้าน เห็นด้วยต่อการขอถอนสภาพทาง และลำรางสาธารณประโยชน์ ซึ่งการที่ชาวบ้านคัดค้าน เนื่องจากอยู่ใกล้แหล่งน้ำท่ากระสาว ที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพียง 100 เมตร ห่างโรงเรียนระยองปัญญานุกูล (คนพิการ) เพียง 300 เมตร รวมทั้งวัดจุฬามุนี และศูนย์ดูแลผู้สูงอายุวัดบ้านแลง
นายอุดม ศิริภักดี กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง กล่าวว่า ทางสาธารณะ และลำรางสาธารณประโยชน์ หมู่ 1 และหมู่ 2 ต.บ้านแลง ทางเขตประกอบการอุตสาหกรรมบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ได้ล้อมรั้วมานานเนื่องจากซื้อที่ดินโดยรอบพื้นที่ทาง และลำรางสาธารณประโยชน์ของชาวบ้าน
“ที่ดินสาธารณประโยชน์เป็นสมบัติของแผ่นดิน ประชาชนมีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกัน หน่วยงานภาครัฐต้องปกป้องดูแล แต่กลับมีหน่วยงานอนุมัติการขอถอนสภาพทาง และลำรางสาธารณประโยชน์ เอื้อประโยชน์ให้โรงงาน พร้อมกับซื้อที่ดินเพื่อแลกเปลี่ยนกับพื้นที่ทาง และลำรางสาธารณประโยชน์ ครอบคลุม 3 ตำบล คือ ต.บ้านแลง ต.ตะพง และ ต.เชิงเนิน โดยอ้างว่าประชาชนไม่ได้ใช้ประโยชน์ในลำรางสาธารณะมานาน”
นายอุดม กล่าวว่า พื้นที่ลำรางสาธารณประโยชน์ นั้นเป็นพื้นที่รองรับน้ำ (แก้มลิง) โดยเฉพาะแก้มลิง ต.บ้านแลง มีประมาณ 100 ไร่ ส่วน ต.ตะพง และ ต.เชิงเนิน รวมแล้วหลายร้อยไร่ ช่วงฤดูน้ำหลากจะเป็นที่รองรับน้ำทำให้ชาวบ้านไม่เดือดร้อน โดยการซื้อที่ดินเพื่อแลกเปลี่ยนใน ต.ตะพง และ ต.เชิงเนิน ทราบว่าดำเนินการไปแล้ว แต่ในส่วนของ ต.บ้านแลง ชาวบ้านไม่ยินยอม ทางโรงงานจึงเปลี่ยนวิธีมาใช้กฎหมายที่ดิน มาตรา 9(1) สามารถเช่าที่ดินได้ไม่เกินปีละ 1,000 บาท แต่ชาวบ้านแลงก็ไม่ยินยอม จึงต้องมอบอำนาจให้นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยื่นฟ้องศาลปกครองระยอง
ขณะที่ นางนุชนาถ ขาวนวล อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96/3 หมู่ 1 ต.บ้านแลง เจ้าของฟาร์มแม่พันธุ์ตะพาบกว่า 2 หมื่นตัว และฟาร์มสุกร กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากกรณีน้ำท่วม ต้องขนย้ายสุกรขึ้นไปเลี้ยงบนบ้าน สาเหตุจากมีการถมดินของโรงงาน ซึ่งจากการสังเกตช่วงที่เกิดฝนตก น้ำฝนไหลลงฟาร์มทำให้ลูกตะพาบที่อนุบาลไว้น็อคตาย สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก จากในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ปัจจุบันเกิดเหตุบ่อยมาก เนื่องจากมีการขยายโรงงานเข้ามาใกล้ทุกที
ด้านนาย ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า การที่โรงงานอุตสาหกรรมนำที่ดินสาธารณประโยชน์มาใช้ประโยชน์ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเร่งทำคำฟ้องเพื่อขออำนาจศาลสั่งให้ที่ดินสาธารณประโยชน์ กลับมาเป็นที่สำหรับให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน