xs
xsm
sm
md
lg

“อีสท์วอเตอร์” เดินหน้าติดตั้งระบบโอโซนรายแรกของไทย หลังประสบความสำเร็จที่ จ.ฉะเชิงเทรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - อีสท์วอเตอร์ โดยยูยู ติดตั้งระบบโอโซนรายแรกของไทย นำร่องที่ประปา จ.ฉะเชิงเทรา และประปาบ่อวิน เดินหน้าขยายให้ครบทุกกิจการประปา

นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด หรือยูยู บริษัทในเครือบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ได้เดินหน้าติดตั้งเทคโนโลยีโอโซนเพื่อเพิ่มคุณภาพของน้ำดิบ นำร่องที่กิจการประปาฉะเชิงเทรา และกิจการประปาบ่อวิน ก่อนเดินหน้าขยายให้ครบทุกกิจการประปา เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการประปาเพิ่มขึ้น และพร้อมเป็นผู้นำในการใช้เทคโนโลยีโอโซนในระบบประปาขนาดใหญ่เป็นรายแรกในประเทศไทย

ทั้งนี้ เทคโนโลยีโอโซนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รับระดับโลกยอมรับ ด้านการเพิ่มคุณภาพของน้ำประปา อันเป็นที่นิยมใช้ทั้งในญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ติดตั้งที่กิจการประปาฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา เป็นแห่งแรก และประสบผลสำเร็จ จึงจะขยายไปในทุกกิจการประปาของบริษัทต่อไป และเป็นการใช้เทคโนโลยีโอโซนในระบบประปาขนาดใหญ่เป็นรายแรกในประเทศไทย เพื่อยกระดับการดำเนินการให้เทียบเท่ากับนานาอารยประเทศ

นายนิพนธ์ บุญเดชานันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด กล่าวว่า การติดตั้งระบบโอโซนเพื่อการเพิ่มคุณภาพน้ำประปานั้น ตามปกติในขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการผลิตน้ำประปา ต้องเติมคลอรีนก่อนส่งจ่ายน้ำไปยังผู้ใช้น้ำ เพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำประปาต้นทาง และให้คลอรีนมีคงเหลือไปฆ่าเชื้อโรคในระบบท่อประปา แต่เนื่องจากคลอรีนเป็นสารเคมีที่สามารถทำปฏิกิริยากับโลหะหนักปนเปื้อนในน้ำได้ดี หากน้ำดิบที่นำมาผลิตเป็นน้ำประปามีการปนเปื้อน เช่น เหล็ก แมงกานีส หรือสารอินทรีย์ละลายในปริมาณสูง จนระบบผลิตน้ำประปาทั่วไปไม่สามารถกำจัดได้อย่างหมดจด ถึงแม้น้ำประปาที่ผลิตได้จะเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. แต่สิ่งปนเปื้อนที่คงเหลือจะส่งผลให้น้ำประปามีสี กลิ่น และสะสมจนเกิดตะกอนในน้ำประปาได้ ซึ่งเป็นสาเหตุของข้อร้องเรียนด้านคุณภาพน้ำประปา

โดยที่ผ่านมา ได้มีความพยายามทดลองวิธีการต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เช่น การเติมอากาศ (ออกซิเจน) การเติมคลอรีน และการเติมด่างทับทิม เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำดิบ และสุดท้ายเห็นว่าการนำโอโซนเข้ามาใช้งานนั้นมีประสิทธิภาพดีที่สุด จึงได้เลือกที่จะติดตั้งระบบโอโซนในกระบวนการผลิตน้ำประปาถึงแม้ว่าจะต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่าวิธีการอื่นก็ตาม

ระบบโอโซนนั้นมีข้อดี คือ กำจัดกลิ่น สี และฆ่าเชื้อโรค แบคทีเรีย และไวรัส ช่วยให้สารโลหะตกตะกอนได้เร็วขึ้น ย่อยสลายทำให้สารอินทรีย์เคมี และสารประกอบของโลหะหนักแตกตัว ยับยั้งการเจริญเติบโตของสาหร่าย และตะไคร่น้ำ กำจัดสารพวกซัลไฟท์และไนไตรท์ สามารถกำจัดอินทรียสารต่างๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อโรค ลดสารก่อมะเร็งที่จะปนเปื้อนในน้ำ ลดกลิ่น สี และฆ่าเชื้อโรคที่มีอยู่ในน้ำได้ดีไม่เป็นพิษต่อสภาพแวดล้อม

“การใช้ระบบโอโซนในการเพิ่มคุณภาพน้ำประปานั้น ถือเป็นการยกระดับการสร้างมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาจากเดิมให้มีคุณภาพสูงขึ้น ขจัดปัญหาที่จะทำให้เกิดข้อร้องเรียนทั้งเรื่องสี กลิ่น และสิ่งปนเปื้อนในน้ำได้เป็นอย่างดี ในการลงทุนครั้งแรกอาจจะใช้เงินลงทุนสูงว่าวิธีอื่น แต่ทางบริษัทเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม และเป็นวิธีการเพิ่มคุณภาพน้ำดิบที่ได้ผลดี และเป็นที่ยอมรับในหลายประเทศ รวมทั้งยังสร้างความพึงพอใจต่อลูกค้าผู้ใช้น้ำประปาได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะคุณภาพน้ำเป็นสิ่งที่อีสท์วอเตอร์ และยูยูคำนึงถึงและให้ความสำคัญตลอดมา ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านการบริหารกิจการประปาของไทย”


กำลังโหลดความคิดเห็น