ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- ภาคประชาชนโคราชลั่นค้านสุดตัว กรณีทางจังหวัดโดยธนารักษ์ไฟเขียวเตรียมให้กลุ่มผู้บุกรุก “มอปลาย่าง” ริมเขื่อนลำตะคอง แหล่งน้ำใหญ่หล่อเลี้ยงคนโคราช ทำร้านอาหารมานานกว่า 10 ปี เช่าพื้นที่แทนการไล่รื้อ ผวากระทบ สวล.ทำน้ำเน่าเสีย และเป็นตัวอย่างไม่ถูกต้อง ซัด จนท.รัฐละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซ้ำร้ายยังทำสิ่งผิด กม.ให้เป็นถูก ยันต้องรื้อถอนคืนพื้นที่ให้ส่วนรวม
วันนี้ (9 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีปัญหากลุ่มนายทุน พ่อค้าแม่ค้าบุกรุกครอบครองที่ราชพัสดุ บริเวณ “มอปลาย่าง” ริมเขื่อนลำตะคอง ข้างถนนมิตรภาพ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เข้าตั้งร้านค้า ร้านอาหารเป็นจำนวนมาก กลายเป็นปัญหายืดเยื้อมานานกว่า 10 ปี เนื่องจากเขื่อนลำตะคองเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคแห่งใหญ่ที่สำคัญของ จ.นครราชสีมา และ ล่าสุด ทาง จ.นครราชสีมา โดยธนารักษ์จังหวัดนครราชสีมา จะแก้ปัญหาด้วยการเปิดให้กลุ่มผู้บุกรุกเช่าใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจการร้านค้า ร้านอาหารต่อไป แทนการให้ออกเพื่อคืนพื้นที่นั้น
นายทวิสันต์ โลณานุรักษ์ ประธานเครือข่ายเรารักษ์ลำตะคอง และประธานสมัชชาสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า อ่างเก็บน้ำลำตะคอง เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคสำคัญของประชาชนชาวโคราชหลายอำเภอ โดยเฉพาะตัวเมืองนครราชสีมา ถือเป็นแหล่งนำน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตประปาเพื่อหล่อเลี้ยงคนทั้งเมือง แต่มีการบุกรุกเข้าครอบครอบครองพื้นที่ มอปลาย่าง บริเวณริมอ่างเก็บน้ำลำตะคอง เพื่อเปิดเป็นร้านค้า ร้านอาหารให้บริการประชาชน นักท่องเที่ยวที่สัญจรไปมาบนถนนมิตรภาพ มานานกว่า 10 ปี
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หลายยุคสมัยพยายามแก้ไขปัญหา บางคนถึงกับประกาศว่า แก้ปัญหาไม่ได้จะขอย้ายตัวเองออกไป หรือบางคนพยายามหาแนวทางที่จะย้ายกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารบริเวณมอปลาย่าง ออกไปอยู่สถานที่อื่น ที่ไม่เสี่ยงต่อการส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อแหล่งต้นน้ำสำคัญแห่งนี้ แต่สุดท้ายก็ยังแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้
จนกระทั่งล่าสุดทราบว่า ทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะปรับเปลี่ยนแนวทางการแก้ปัญหามาเป็นการให้กลุ่มผู้ประการร้านอาหารที่ผู้บุกรุกมอปลาย่าง ได้เช่าพื้นที่แทนการรื้อถอนออกไป ซึ่งหากเรื่องนี้เป็นความจริง มันจะกลายเป็นตัวอย่างการบุกรุกที่ดินของรัฐที่ในที่สุดก็นำไปสู่การตกลงกันกับภาครัฐเพื่อทำสิ่งผิดกฎหมายให้กลายเป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นเช่นนี้ผู้คนก็จะพากันบุกรุกมากขึ้น ซึ่งในภาคอีสานมีกรณีพิพาทเช่นนี้ที่เกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น กรณี จ.เลย อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และมอปลาย่าง อ.ปากช่อง
ฉะนั้นโดยส่วนตัวคิดว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องให้ความสำคัญต่อปัญหาการบุกรุกที่ดินรัฐ ในกรณี มอปลาย่าง อ.ปากช่อง ซึ่งเราเคารพในความเป็นคนทำมาหากิน แต่ความเป็นจริงต้องยอมรับว่า มันเป็นการบุกรุกที่หลวง และเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวในเรื่องของแหล่งน้ำสาธารณะที่สำคัญมาก ฉะนั้นการที่จะตกลงเพื่อให้ผู้บุกรุกเช่าใช้พื้นที่นั้นเป็นเรื่องที่ผิดพลาดอย่างมาก และจะกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของประเทศไทย
ทุกวันนี้จะเห็นว่าชายทะเลมีคนมาจับจองไปหมด เวลาจะไปนั่งชายหาดต้องเสียเงิน หากปล่อยแบบนี้ได้ต่อไปเมื่อประชาชนเข้าไป มอปลาย่าง ซึ่งต่อไปจะเป็นพื้นที่ของบุคคลผู้มีสัญญาเช่า จึงขอถามว่าหากมีปัญหาส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำที่เกิดจากการทิ้งน้ำเสีย และสิ่งปฏิกูลต่างๆ จากร้านค้า ร้านอาหารเหล่านี้ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปดำเนินการได้หรือไม่อย่างไร เพราะเขามีสัญญาเช่าคุ้มครองอยู่
“ดังนั้น เรื่องนี้อย่าคิดแก้ปัญหามักง่ายแบบลวกๆ แล้วทิ้งเป็นปัญหาในอนาคตให้ชาวโคราช ฉะนั้นใครก็ตามคิดทำเรื่องนี้ต้องทบทวนให้ดี และคนที่เสนอความคิดให้ผู้บุกรุกที่ดินของรัฐโดยผิดกฎหมายมาเช่าพื้นที่อย่างถูกต้องแทน นั้น ถือมีความกล้าหาญชาญชัยมาก” นายทวิสันต์ กล่าว
นายทวิสันต์ กล่าวอีกว่า ทุกภาคส่วนของชาวโคราชมีความกันเห็นนานแล้วว่า ต้องดำเนินการย้ายร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ ออกไปมอปลาย่าง ริมเขื่อนลำตะคอง แล้วหาสถานที่แหล่งอื่นที่เหมาะสมให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นอยู่ และต้องย้ายออกไปกันหมดทุกร้าน เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน จากนั้นค่อยมาปรับสถานที่ให้เป็นเรสต์ แอเรีย (Rest Area) ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนชั่วคราวของประชาชน และนักท่องเที่ยวที่ใช้ถนนมิตรภาพสัญจรไปมา แต่ไม่ควรมีร้านค้าร้านอาหารเกิดขึ้นในบริเวณแห่งนี้
มอปลาย่าง ถือเป็นสัญลักษณ์ที่แย่มากสำหรับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาที่ตกค้างมาหลายยุคหลายสมัย หลายคนถามว่าปล่อยให้มาตั้งอยู่ได้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมา มีการแก้ไขปัญหาแบบลูบหน้าปะจมูก และมีการพูดกันว่ามีนักการเมืองบางคนเป็นหัวหน้าทำให้ข้าราชการเกรงใจ ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งลักษณะเช่นนี้มีความผิดตามมาตรา 157 ที่สำคัญเมื่อละเลยต่อหน้าที่แล้ว ยังทำให้สิ่งผิดกฎหมายกลายเป็นของถูกกฎหมายอีก
“จึงหวังว่ายุค คสช. เป็นรัฐบาลน่าจะแก้ไขปัญหาได้ เพราะเรื่องนี้มันคาราคาซังมานานจนกลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบระยะยาวจึงต้องคิดกันให้รอบคอบ” นายทวิสันต์ กล่าวในตอนท้าย