xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.พาชุมชนโดยรอบท่าเรือศึกษาดูงานท่าเรือปูซาน เกาหลีใต้ หวังนำมาปรับใช้ในพื้นที่(ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง พาผู้นำชุมชนรอบท่าเรือแหลมฉบัง หน่วยงานภาครัฐในอำเภอศรีราชา และบางละมุง เดินทางไปศึกษาดูงานด้านการพัฒนาท่าเรือนครปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ หวังนำความรู้ และประสบการณ์ กลับมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการยกระดับความเป็นอยู่ให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


เรือเอกสุทธินันท์ หัตถวงศ์ ผู้อำนวยการการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมคณะผู้บริหาร ได้นำคณะชุมชนแหลมฉบัง ชุมชนบางละมุง ชุมชนตะเคียนเตี้ย และชุมชนโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการบริหารท่าเรือของนครปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม-5 กันยายนที่ผ่านมา จุดประสงค์สำคัญก็เพื่อนำความรู้ที่ได้รับจากการบริหารงานของท่าเรือจากต่างประเทศ กลับมาประชุมใช้ในการพัฒนาขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าของท่าเรือแหลมฉบังให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ยังนำแนวคิดในการพัฒนาชุมชน และประชาชนในพื้นที่แหลมฉบัง และพื้นที่ใกล้เคียงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของท่าเรือ

เรือเอกสุทธินันท์ กล่าวว่า การนำประชาชนในชุมชน และหน่วยงานราชการในพื้นที่เดินทางไปศึกษาดูงานที่นครหลวงโซล เมืองซองโด และมหานครปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ในครั้งนี้ เพราะต้องการให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการร่วมมือกันพัฒนาประเทศ โดยดูแนวทางการพัฒนาของประเทศที่เจริญแล้ว โดยเฉพาะการดูขีดความสามารถในการขนถ่ายสินค้าของท่าเรือมหานครปูซาน ซึ่งในปีที่ผ่านมา มีตัวเลขการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าไม่น้อยกว่า 17 ล้านทีอียู และยังเป็นท่าเรือที่มีปริมาณตู้สินค้าขนถ่ายมากเป็นอันดับ 5 ของโลก รวมทั้งรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการเดินทางมาในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศที่เจริญมีขั้นตอน และมีแนวทาง รวมทั้งความทุ่มเทของทุกภาคส่วน

“เราไม่ได้ต้องการให้ประชาชนสนับสนุนการทำกิจกรรมของการท่าเรือฯ เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท่าเรือ ซึ่งประสบการณ์จากการดูงานในครั้งนี้เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มพูนความรู้ด้านต่างๆ โดยเฉพาะเมืองปูซาน ที่มีการพัฒนาท่าเรือจากท่าเรือเดิมที่อยู่ใกล้เมือง มาสู่การถมทะเลเพื่อพัฒนาพื้นที่จนกลายเป็นท่าเทียบเรือใหญ่ของโลก ควบคู่ไปกับการดูแลชุมชนโดยรอบ ซึ่งเราจะนำแนวคิดต่างๆ กลับไปพัฒนารวมทั้งพูดคุยกับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน ซึ่งก็จะทำให้ผู้นำชุมชนสามารถนำแนวความคิดดังกล่าวไปบอกกล่าวแก่ประชาชนในหมู่บ้านแหลมฉบัง เพื่อให้การท่าเรือ และชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ไม่มีปัญหา หรือกระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน”

โดย เรือเอกสุทธินันท์ ย้ำว่า ท่าเรือฯ ต้องการให้ชุมชน หรือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โดยรอบเสนอความคิดเห็นต่างๆ แม้ในบางครั้งอาจจะไม่เห็นด้วยต่อโครงการของท่าเรือ แต่ก็สามารถเสนอ หรือแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อร่วมกันส่งเสริมพัฒนาทุกภาคส่วนให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

นอกจากนั้น คณะศึกษาดูงานยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายสรุปที่ Compact Smart City Songdo ซึ่งในอนาคตจะกลายเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของโลก และเสริมบทบาทของประเทศเกาหลีใต้ให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้า และภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่ภายในเมืองอีกด้วย

นายสนธิ คชวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาชมชนและสังคมรอบท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่า การดูงานท่าเรือน้ำลึกปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ของการท่าเรือแหลมฉบังที่จัดให้ชุมชนได้ไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้ และประสบการณ์ ในครั้งนี้ รู้สึกว่าได้รับประโยชน์ค่อนข้างมาก เนื่องจากได้เห็นการทำงานอย่างมืออาชีพของประเทศเกาหลี แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลกี่ครั้งแต่นโยบายพัฒนาประเทศที่ได้ลงทุนศึกษาไปแล้ว วางแผนมาอย่างดีแล้วไม่เคยเปลี่ยน ถือเป็นแผนพัฒนาชาติที่ดี และที่สำคัญข้อดีของประเทศเกาหลีคือ ฟังเสียงของประชาชน และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยดูแลผู้ได้รับผลกระทบอย่างดียิ่ง ประดุจผู้มีบุญคุณเสียสละให้ประเทศชาติ

ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องมีคุณภาพชีวิต และฐานะความเป็นอยู่ที่ดีมาก การพัฒนาก่อสร้างท่าเรือปูซาน ใช้เวลาถึง 25 ปี ในการดำเนินงานทุกขั้นตอนทำตามแผนที่วางไว้ทั้งหมด รวมทั้งทำตามที่สัญญากับประชาชน ถึงขนาดที่รัฐบาลลงทุนทำแบบจำลองทางกายภาพแสดงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต..ใช้วิสัยทัศน์ว่า your dream to the world. เป้าหมายคือระดับโลก ปลูกฝังให้เยาวชน และประชาชนรักชาติ และรัฐบาลก็รักเยาวชน และประชาชนเช่นด้วยกัน

นายสนธิ กล่าวอีกว่า บทเรียนจากการดูงานครั้งนี้ ประเทศไทยต้องปฏิรูปประเทศโดยมีวิสัยทัศน์ก้าวกระโดดมองจาก local to international ในด้านสิ่งแวดล้อมต้องใช้หลักการ the heart of development is eco-projects สำหรับการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในอนาคต ต้องรับฟ้งเสียงของชุมชนท้องถิ่นให้มาก ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด คุณภาพชีวิตของประชาชนโ ดยท่าเทียบเรือต้องดีขึ้นกว่าเดิม และควรพิจารณาการขยายท่าเรือไปที่เกาะสีชัง และพัฒนาแบบเมืองปูซาน จะดีกว่าหรือไม่ที่จะถมทะเลปิดอ่าวบางละมุงแบบแนวคิดเดิมๆ

“เกาหลีใต้วันนี้ไปไกลมากแล้ว เขากำลังสร้างเมืองใหม่คือ incheon city ถมทะเลออกไปในบริเวณทะเลที่เป็นโคลน โดยใช้ขยะมูลฝอย และทรายสลับกัน เริ่มถมมาเรื่อยๆ 20 ปี และสร้างเมือง เป็นที่พักของชุมชน สนามบิน พื้นที่สีเขียว ธุรกิจระหว่างประเทศ เมืองหุ่นยนต์ สนามกีฬา โดยกำลังจะจัดกีฬาเอเชียน เกมส์ เร็วๆ นี้ พร้อมทั้งได้สร้างอาคาร compact smart city นำเสนออดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเมือง incheon ในรูปของหนังสามมิติ และ physical modeling ให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชม โดยทั้งหมดได้ผ่านการวิเคราะห์ทุกด้านรวมทั้งผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย โมเดลที่แสดงเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้สัญญากับประชาชนไว้ สามารถตรวจสอบได้ประเทศเกาหลี จึงแข็งแกร่ง ส่วนประเทศไทยที่ผ่านมาสัญญาแค่ในกระดาษ ขาดการตรวจสอบเท่าที่ควร”

ด้านนายประภาส มุ่งหาเงิน ประธานชุมชนบ้านบางละมุง ประธานชุมชนแหลมฉบัง เผยว่า การเดินทางมาดูงานในครั้งนี้ต้องขอบคุณทางท่าเรือแหลมฉบังที่ให้โอกาสประชาชน ได้มาดูศึกษาการอยู่รวมกันของประชาชน และท่าเรือ ซึ่งจะเห็นว่า ทางท่าเรือปูซาน เขามีการดำเนินการที่ดีมากในส่วนของรัฐบาลที่เอาใจใส่ประชาชน รัฐบาลเกาหลี มีการวางแผนงานที่มาก รวมทั้งการดูแลประชาชนที่ดีมาก และที่สำคัญการก่อสร้างท่าเรือปูซานให้พื้นที่จากการถมทะเล ไม่ได้มีการเวนคืน ส่วนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบก็ได้รับการเยี่ยวยาที่ดี ทำให้ไม่เกิดปัญหา หรือผลกระทบใดๆ ต่อประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ทางท่าเรือฯ หรือรัฐบาลเราน่าจะนำมาปรับใช้ในพื้นที่เราได้

นอกจากนี้ ชุมชนโบราณของเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี มีการฝึกให้เยาวชนตัวเล็กๆ มารู้จักประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาติ เช่น การชงชา ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างให้เกิดความรักชาติตั้งแต่อายุยังน้อย เป็นการปลูกฝังไว้ในจิตใจ มีการพามาเดินเมืองโบราณของประเทศตนเอง โดยที่ไม่มีผู้ปกครองมายุ่งเกี่ยว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสร้างความแข็งเกร่งให้แก่เยาวชน ซึ่งต่างจากคนไทยที่จะต้องมีผู้ปกครองมานั่งเฝ้าลูกหลาน สร้างความอ่อนแอให้เยาวชนตั้งแต่เด็ก












กำลังโหลดความคิดเห็น