ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล หรือ “ท่านมุ้ย” ฟันธงมาลาเรียทำพระองค์ดำสิ้น ขณะที่กรมศิลป์จัดเสวนาสำรวจเส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคต “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ที่เวียงแหง
กรมศิลปากรได้จัดเสวนาสำรวจเส้นทางเดินทัพและสถานที่สวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่าง 29-31 สิงหาคมที่ผ่านมา กิจกรรมครั้งนี้เพื่อศึกษาและพิสูจน์ความคลุมเครือในประวัติศาสตร์ตามพงศาวดารที่ไม่ได้ระบุความชัดเจนเอาไว้
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น นายสด แดงเอียด อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร อธิบดีกรมการศาสนา รวมถึง “ท่านมุ้ย” ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งเคยลงพื้นที่สำรวจเส้นทางหลายรอบระหว่างปี 2545-2552 ก่อนจะสร้างภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
การจัดงานครั้งนี้เพื่อจะหาหลักฐานมายืนยันข้อสมมติฐานใหม่ว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชไม่ได้สวรรคตที่ “เมืองหาง” เขตพม่า ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานเดิมที่เชื่อถือกันมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หากแต่เป็นเมืองเวียงแหง ซึ่งเป็นเมืองโบราณเรียกว่า “เมืองแหง” ตั้งอยู่ตามเส้นทางลำน้ำแม่แตงต่อเชื่อมไปยังเส้นทางเมืองนาย (ไทใหญ่) และกรุงอังวะได้
ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรในการเสวนา ผู้ซึ่งเคยออกสำรวจเส้นทางสายนี้ทั้งทางอากาศและทางบกมาก่อนตลอดระยะเวลาประมาณ 10 ปีมานี้ กล่าวว่า ตนมีความเชื่อว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพครั้งสุดท้ายเมื่อ พ.ศ. 2148 ไปตีเมืองนายซึ่งเคยอยู่ใต้ปกครองเชียงใหม่กลับคืนและจะยกไปตีอังวะต่อ การยกทัพครั้งนั้นใช้เส้นทางเลียบน้ำแม่แตงขึ้นไปผ่านจุดสำคัญคือเมืองคอง ไปตั้งทัพบริเวณที่ราบกว้างใหญ่ริมแม่น้ำแตงด้านทิศตะวันออกของวัดแสนไห ในเขต อ.เวียงแหง แล้วก็สวรรคตที่นั่น
ด้วยความที่ได้เดินทางสำรวจเส้นทางด้วยตนเองผ่านป่าทึบและทางทุรกันดารกว่าจะไปถึง อ.เวียงแหง ท่านมุ้ยวินิจฉัยว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราชน่าจะประชวรด้วยมาลาเรียหรือไข้ป่า และจุดที่เสด็จสวรรคตน่าจะอยู่บนเนินสูงติดกับทุ่งกว้างซึ่งปัจจุบันเป็นวัดแสนไห
ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ยังกล่าวด้วยว่า ตนกำลังถ่ายทำภาพยนตร์ “ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค 6” ซึ่งเป็นภาคจบเพื่อให้ภาพยนตร์ชุดนี้มีความสมบูรณ์ เนื้อหาที่จะใส่ลงไปจะรวมถึงเส้นทางเดินทัพและเหตุการณ์เสด็จสวรรคตที่เวียงแหงด้วย
ข้อสันนิษฐานของท่านมุ้ยเป็นไปในแนวทางเดียวกับ ชัยยง ไชยศรี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ผู้เสนอแนวคิดเส้นทางเดินทัพและจุดสวรรคตที่เวียงแหงเมื่อราวสิบปีก่อน และแนวความคิดนี้เริ่มขยายการยอมรับทั้งมีหลักฐานประกอบมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะหลักฐานจากพงศาวดารพม่าที่กล่าวถึง “เมืองแหน” กับ “เมืองหัน” เป็นคนละเมืองกัน โดยเมืองหันหมายถึงเมืองหาง ส่วนเมืองแหนน่าจะหมายถึง เมืองแหง หรือ เวียงแหง เพราะเนื้อหากล่าวถึงเส้นทางเดินทางจากเชียงใหม่ข้ามแม่น้ำสาละวินไปยังกรุงอังวะเป็นลำดับ
นายสด แดงเอียด อดีตอธิบดีกรมการศาสนาและรองอธิบดีกรมศิลปากรผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์อยุธยายอมรับว่า แม้ตอนนี้กรมศิลปากรยังต้องขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อหาหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนตามหลักวิชาการ แต่โดยส่วนตัวตนก็เริ่มเอนเอียงมาทางทฤษฎีใหม่สถานที่สวรรคตที่เวียงแหงมากขึ้น
ทั้งนี้ เพราะตนยึดพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ซึ่งเขียนในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ห่างจากปีที่สมเด็จพระนเรศวรสวรรคตเพียง 75 ปี ดังนั้น เรื่องราวยังอยู่ในความทรงจำของผู้คนอยู่ พงศาวดารฉบับนี้เขียนว่าทรงตั้งทัพที่ตำบลทุ่งดอนแก้ว ในทางวิชาการควรจะมุ่งพิสูจน์ค้นหา “ทุ่งดอนแก้ว” ให้พบ
วิธีการที่นายสดเสนอได้รับการยอมรับจากวงเสวนาเพราะความแตกต่างของชื่อเมืองที่ไม่เหมือนกันของแต่ละพงศาวดาร บ้างว่าเมืองหลวง บ้างว่าเมืองห้างหลวง บ้างเรียกเมืองหลวงไม่ตรงกัน ซึ่งหากผู้ศึกษายึดเอาจุดที่ไม่เปลี่ยนแปรคือ “ทุ่ง” ที่มีอยู่ไม่กี่จุดก็จะเข้าใกล้ข้อมูลได้มากขึ้น
ปัจจุบันกรมศิลปากรได้มีโครงการสำรวจและขุดค้นทางโบราณสถานตามแนวเส้นทางนี้บ้างแล้วเช่นที่เมืองคอง ในเขต อ.เชียงดาว ซึ่งเป็นเมืองสำคัญระหว่างทางผ่านและบริเวณวัดแสนไห ซึ่งเป็นวัดโบราณติดกับทุ่งนากว้างใหญ่ที่น่าจะเป็นทุ่งดอนแก้วในพงศาวดาร ทั้งนี้ จะมีการเสนอโครงการของบประมาณขุดค้นเพิ่มเติมในลำดับต่อไป
สำหรับเส้นทางเดินทัพสมเด็จพระนเรศวรนั้นเป็นเส้นทางโบราณเลียบน้ำแม่แตงแยกจากถนนสายเชียงใหม่-ฝาง เข้าไปทางสายเล็กไปถึง ต.กึ๊ดช้าง อ.แม่แตง จากนั้นเส้นทางจะทุรกันดารมากขึ้นเป็นถนนลูกรังราว 30 กิโลเมตรถึงบ้านเมืองคอง ในเขต อ.เชียงดาว เส้นทางต่อจากนั้นราว 25 กิโลเมตรจะยิ่งทุรกันดารกว่าเดิมเพราะเป็นทางในป่าไม่มีคนสัญจร คณะสำรวจเจออุปสรรคหลายประการทั้งรถตกหล่ม ตกไหล่ถนนและทางโคลนเลนใช้เวลาเดินทาง 25 กิโลเมตรสุดท้ายนานกว่า 5 ชั่วโมงแม้ว่าจะใช้รถออฟโรดขับเคลื่อนสี่ล้อและรถทหารที่เหมาะสมกับภูมิประเทศแล้วก็ตาม คาดว่าหากรัฐบาลจะส่งเสริมการท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางเดินทัพจะต้องพัฒนาเส้นทางเพิ่มเติมเสียก่อน