xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.ศรีสะเกษเฝ้าระวังโรคอีโบลาด่านชายแดนไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นพ.วันชัย  เหล่าเสถียรกิจ  รองนายแพทย์ สสจ.ศรีสะเกษ
ศรีสะเกษ - สสจ.ศรีสะเกษ เตรียมเฝ้าระวังโรคอีโบลาด่านชายแดนไทย-กัมพูชาอย่างใกล้ชิด พร้อมหาข่าวมีประชาชนเดินทางไปยัง 3 ประเทศ 1 เมือง ช่วงการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาหรือไม่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคอีโบลาใน จ.ศรีสะเกษ

วันนี้ (22 ส.ค) ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ นพ.วันชัย เหล่าเสถียรกิจ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ด้านเวชกรรมป้องกัน ได้ร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์สาธารสุขทุกจังหวัดเพื่อมอบนโยบายการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา หรือโรคอีโบลา และมอบนโยบายการปฏิรูปการบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในเรื่องของโรคอีโบลานั้นทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีแนวทางอยู่ 4 ข้อหลัก คือ 1.การให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หรือ สสจ.ทุกจังหวัดติดตามหาประชาชนในจังหวัดที่เคยเดินทางไปที่ 3 ประเทศ คือ กินี, เซียร์ราลีโอน, ไลบีเรีย และอีก 1 เมือง คือ เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ในช่วงที่เกิดโรคระบาดอีโบลา เพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอีโบลา

2.ให้ สสจ.ทุกจังหวัดเตรียมสถานพยาบาล และห้องติดเชื้อให้พร้อมรับมือต่อการแพร่ระบาดของโรคอีโบลา 3.ให้ทุก สสจ.เร่งสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนในจังหวัดได้รับรู้ถึงสถานการณ์ และการป้องกันโรคอีโบลา เพื่อไม่ให้ประชาชนแตกตื่นต่อเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคอีโบลา

และ 4.ให้ทุก สสจ.ประสานความร่วมมือกับทางจังหวัด หรือกับหน่วยงานอื่นไว้ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือประชาชนได้ทันเหตุการณ์เมื่อถึงเหตุสุดวิสัย พร้อมกับให้ สสจ.ทุกจังหวัดได้มีการซ้อมแผนบริหารจัดการ และซ้อมระบบอยู่เป็นประจำเพื่อให้การบริหารจัดการ และระบบใช้ได้ดีเมื่อมีเหตุ

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้อยากให้จังหวัดที่มีด่านทางอากาศ 5 จังหวัด และด่านทางน้ำ 17 จังหวัด ได้เน้นเฝ้าระวังตาม 4 ข้อหลักในการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา หรือโรคอีโบลา โดยของยืนยันตอนนี้ประเทศไทยยังไม่มีผู้ติดเชื้อจากโรคอีโบลา และประเทศไทยมีโอกาสติดเชื้อต่ำ
 
แต่อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้ สสจ.ทุกจังหวัดประมาท หากพบเจอผู้ที่เข้าข่ายติดเชื้ออีโบลาก็ให้แจ้งเข้าไปที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทางกรมควบคุมโรคจะได้ส่งเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรอง และเจาะเลือดไปตรวจต่อไป

ทางด้าน นพ.วันชัย เหล่าเสถียรกิจ รองนายแพทย์สาธารณสุข จ.ศรีสะเกษ ด้านเวชกรรมป้องกัน เปิดเผยว่า แม้ จ.ศรีสะเกษ จะไม่ใช่จังหวัดที่มีด่านทางอากาศ และด่านทางน้ำตามทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เน้นเฝ้าระวังก็ตาม แต่ทาง จ.ศรีสะเกษ มีด่านและจุดผ่านแดนถาวรไทย-กัมพูชา ช่องสะงำ ที่มีชาวกัมพูชาผ่านเข้า-ออกอยู่เป็นประจำ ทำให้ สสจ.ศรีสะเกษ จึงไม่ประมาทเตรียมเฝ้าระวังติดตามประชาชนที่เข้าข่ายที่จะติดเชื้ออีโบลาอย่างใกล้ชิด และหาข่าวว่าใน จ.ศรีสะเกษ ได้เคยมีประชาชนเดินทางไปยัง 3 ประเทศ 1 เมือง ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาหรือไม่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังป้องกันการแพร่ระบาดโรคอีโบลาใน จ.ศรีสะเกษ

กำลังโหลดความคิดเห็น