xs
xsm
sm
md
lg

พณ.เปิดเวทีรับเออีซี/เอกชนพุ่งเป้าเข้าพม่า-ลงทุนได้หลากหลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย - กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเวทีหนุนเอกชนเข้าตลาดเออีซี กูรูพุ่งเป้าเข้าพม่า หลังเปิดประเทศคมนาคมดีขึ้น จับตางบปี 58 หนุนช่องทางเชื่อมโยง ขณะที่จังหวัดเชียงรายขยับรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเฟส 2

วันนี้ (20 ส.ค.) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดเวทีเสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านการค้าระหว่างประเทศเจาะตลาดอาเซียน “จุดพลังความคิด เพิ่มโอกาสธุรกิจ พิชิตตลาด AEC” ภายใต้โครงการพัฒนาและสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยสู่ตลาดอาเซียนในภูมิภาค ขึ้นที่ห้องประชุมเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ อ.เมืองเชียงราย

โดยนางจิรภาพรรณ มลิทอง ผู้อำนวยการ DITP นำคณะวิทยากร และภาคเอกชนเข้าร่วมเวที เช่น นายพงษ์ศักดิ์ พิบูลย์ศักดิ์ รองเลขาธิการและกรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ และนายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ที่ปรึกษาประธานหอการค้า จ.ตาก

นายพัฒนากล่าวว่า ขณะนี้ SMEs ของไทยถือว่ามีอนาคตที่น่าสนใจมากในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี โดยเฉพาะในพม่า ที่กำลังเปิดประเทศ ซึ่งภาคเอกชนมีการสร้างเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์กันมาอย่างต่อเนื่อง ยังมีธุรกิจที่คนไทยถนัด และสามารถเข้าไปส่งเสริมหรือลงทุนร่วมกับชาวพม่าได้ เช่น ธุรกิจบันเทิง การออกแบบ อัญมณีเครื่องประดับ ฯลฯ

ด้านนายบรรพตกล่าวว่า วันนี้คนไทยต้องปรับมุมมองที่มีต่อพม่าใหม่ เพราะหลังเปิดประเทศทำให้สามารถเดินทางไปร่วมลงทุนด้านต่างๆ ได้เสรีกว่าเดิม เส้นทางคมนาคมสะดวกยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถนนจาก อ.แม่สอด จ.ตาก เมาะละแหม่ง ย่างกุ้ง สามารถร่นเวลาการเดินทางจากเดิมใช้ 25 ชั่วโมงเหลือเพียงประมาณ 8 ชั่วโมง ทำให้เมืองเมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด ยังจะขยายตัวอีกมากหากถนนสายนี้แล้วเสร็จ

ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนาคือ การออกแบบเมืองให้รองรับอนาคตการเติบโตของพม่าได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นภาพแล้ว โดยมีห้างสรรพสินค้ายักษ์ใหญ่หลายรายไปเปิดสาขา อ.แม่สอด

“เดิมเรามีแนวคิดจะตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ลักษณะเป็นนิคมอุตสาหกรรม เพื่อเป็น Buffer State ตรงชายแดน เพื่อไม่ให้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้าชั้นในของประเทศมากเกินไป แต่เมื่อขยายการใช้แรงงานได้ทั่วประเทศและยังปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อีก ทำให้ Buffer State ไม่มีอยู่อีกต่อไป จึงต้องปรับวิธีการคิดและลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะพม่ากันใหม่”

นายบรรพตกล่าวอีกว่า แต่การเข้าไปลงทุนในพม่าก็ต้องศึกษาตลาด เพราะสินค้าหลายอย่างเป็นที่นิยมในประเทศไทยกลับไม่นิยมในพม่า หรือบางอย่างไม่น่าจะนิยมก็เป็นที่นิยมกันมาก ไม่ว่าจะกาแฟบางยี่ห้อที่มีรสหวานมัน เมืองไทยไม่ค่อยนิยม แต่คนพม่ามานิยมดื่มมาก ปัจจุบันคนพม่าหันมาดื่มเบียร์ไทยมากขึ้นด้วย

ด้านนายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า คงต้องเฝ้าจับตางบประมาณของไทยปี 2558 ซึ่งจะมีการนำมาใช้พัฒนาระบบลอจิสติกส์มูลค่ากว่า 1 แสนล้านกว่าบาท ซึ่งจะมีการพัฒนาประตูต่างๆ ของประเทศ หลายจุดมีการนำมาปัดฝุ่นพัฒนาใหม่ด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะประตูเหล่านี้จะเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านในเออีซี

วันเดียวกัน นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการ จ.เชียงราย ตามโครงการศึกษาแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีผู้บริหารจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใน จ.เชียงราย และภาคเอกชนเข้าร่วม

นายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า รัฐบาลที่ผ่านมาได้กำหนดการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษเอาไว้ 12 แห่ง ต่อมาเมื่อถึงยุค คสช.ให้ดำเนินการแล้วจำนวน 5 แห่ง กรณีของเชียงราย ไม่ได้อยู่ในจำนวน 5 แห่งแรกดังกล่าว ดังนั้นยังมีเวลาให้ทุกฝ่ายได้ร่วมปรึกษาหารือกันเพื่อให้การพัฒนามีความเหมาะสมมากที่สุดต่อไป

ขณะที่ น.ส.พจนี อรรถโรจน์ภิญโญ ที่ปรึกษานโยบายและแผน สศช. กล่าวว่า การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกว่า 90% ทั่วโลกเกี่ยวข้องกับการตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่ตามกฎหมายไทยแล้วสามารถตั้งได้เลย ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายใหม่ แต่ต้องบูรณาการทางการปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานเท่านั้น ซึ่งแต่ละแห่งก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี ซึ่งไม่ทันต่อการเปิดเออีซี



กำลังโหลดความคิดเห็น