xs
xsm
sm
md
lg

สื่อออนไลน์ดันรายได้เพลงคึก คาดละเมิดพุ่ง 10 เท่าทะลุพันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เทคโนโลยีการสื่อสารช่วยชีวิตอุตสาหกรรมเพลงฟื้นตัวอีกครั้งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา “ยูทิวบ์-สมาร์ทโฟน” เครื่องมือสร้างรายได้ออนไลน์พุ่ง 20-30% ช่วยลดพฤติกรรมการละเมิดดาวน์โหลด ส่งค่ายเพลงอินดี้ผุดนับสิบค่ายต่อปี “TECA” สานต่อภารกิจหลัก 3 ประการ หวังดันตลาดรวมอุตสาหกรรมเพลงโตต่อเนื่องจาก 4,280 ล้านบาทในปีก่อน

นายรณพงศ์ คำนวณทิพย์ นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการธุรกิจบันเทิงไทย หรือ TECA เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมเพลงไทยหลังจากเจอกระแสการเปลี่ยนผ่านจากฟิสิกคอลมาเป็นออนไลน์ ทำให้ตลาดเพลงประสบปัญหาอย่างมากในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการละเมิดลิขสิทธิ์ทางโลกออนไลน์ โดยพบว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาตลาดเพลงไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร การที่มี 3G, 4G เข้ามา การรับฟังเพลงผ่านสมาร์ทโฟนที่ทำได้ง่ายขึ้น หรืออินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วเพิ่มขึ้น ส่งผลให้รายได้เพลงจากสื่อออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปีนี้จะโตอีก 20-30% และในปีหน้าจะโตแบบก้าวกระโดด หรือเป็นเท่าตัว

ปัจจุบันตลาดรวมอุตสาหกรรมเพลงไทยมีมูลค่ารวมที่ 4,280 ล้านบาท แบ่งเป็น ฟิสิกคอล 630 ล้านบาท, ดิจิตอล 1,080 ล้านบาท, มิวสิกไลเซนซิ่ง 460 ล้านบาท และอื่นๆ เช่น คอนเสิร์ต อีเวนต์ บริหารศิลปิน รวมกันอีก 2,110 ล้านบาท หรือแบ่งได้เป็น ดิจิตอล 25% ฟิสิกคอล 15% มิวสิกไลเซนซิ่ง 11% และอื่นๆ รวมกัน 49% โดยแนวโน้มของดิจิตอลมีการเติบโตมากสุด เนื่องจากการใช้งาน หรือเข้าถึงการฟังเพลงที่ง่ายขึ้นจากเครื่องมือต่างๆ เช่น ยูทิวบ์ ที่มีการเปิดตัวในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ส่งผลดีทั้งการโปรโมตเพลงและสร้างรายได้เพิ่มเติมจากโฆษณา, ดีแทค ดีเซอร์ ที่ทำให้การฟังเพลงบนมือถือง่ายขึ้นแบบถูกลิขสิทธิ์ และการดาวน์โหลดเพลงผ่านทาง Itunes ขณะที่การดาวน์โหลดเพลงในไฟล์ Mp3 ผ่านทางเว็บไซต์ต่างๆ ในลักษณะละเมิดลิขสิทธิ์กลับยากขึ้นบนโลกออนไลน์ ถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงบนโลกออนไลน์จะสูงถึง 10 เท่าตัวของมูลค่าจริงที่ 1,080 ล้านบาทก็ตาม

“จากทิศทางของดิจิตอลที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดีนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โมเดลในการสร้างค่ายเพลงของไทยเปลี่ยนแปลงไป มีการเกิดขึ้นของค่ายเพลงขนาดเล็ก หรือแบบอินดี้เกิดขึ้นเป็นเท่าตัว และมีเกิดขึ้นทุกวัน จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 100-200 ค่ายเพลง เนื่องจากต้นทุนต่ำ สร้างคอนเทนต์ออกมาได้ง่ายขึ้น เผยแพร่ผ่านโลกออนไลน์ได้ง่าย ที่สำคัญรูปแบบการบริหารค่ายเพลงจะต้องหลากหลาย หารายได้เพิ่มเติมจากส่วนอื่นๆ เข้ามาเสริม เช่น เมอร์ชันไดซ์ และบริหารลิขสิทธิ์เพลงในช่องทางใหม่ๆ เช่น ดิจิตอลทีวี ที่กำลังเกิดขึ้น เป็นต้น รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรในการทำตลาดรวมกัน โดยรูปแบบการขายคอนเทนต์เพลงจะเป็นแบบซิงเกิล มากกว่าเป็นอัลบั้มอย่างที่ผ่านมา”

นายรณพงศ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของ TECA ยังคงเดินหน้าตาม 3 ภารกิจหลักคือ มุ่งส่งเสริมคุณค่าของงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์, ปกป้องคุ้มครองงานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ และเผยแพร่การใช้งานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์ในเชิงพาณิชย์ โดยปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ 12 ราย เช่น บีอีซี-เทโร มิวสิค, ยูนิเวอร์ซัล มิวสิค (ประเทศไทย), วอร์นเนอร์ มิวสิค (ประเทศไทย), โซนี่ มิวสิคฯ, รีโวล์ มิวสิค, เคพีเอ็น มิวสิคฯ, ฮิตแมน และสไปร์ซซี่ ดิสก์ เป็นต้น ถึงสิ้นปีนี้เชื่อว่าค่ายเพลงใหญ่ๆ ที่เหลือจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกเกือบทั้งหมด


กำลังโหลดความคิดเห็น