xs
xsm
sm
md
lg

“สมเด็จพระเทพฯ” พระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยศิลปากร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครปฐม - สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม ประจำปีการศึกษา 2556

วันนี้ (31 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.09 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปีการศึกษา 2556 ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 11 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร กรรมการสภามหาวิทยาลัย อธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี อาจารย์ ข้าราชการ และนักศึกษา เฝ้าฯ รับเสด็จ

ในการนี้ มหาวิทยาลัยศิลปากร ขอพระราชทานทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสนเทศศาสตร์เพื่อการศึกษา แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สำหรับในปีนี้ มีนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 6,207 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปีการศึกษา 2554 จำนวน 1 ราย ประจำปีการศึกษา 2556 จำนวน 5 ราย และเกียรติบัตรศาสตราจารย์เกียรติคุณ จำนวน 2 ราย

โอกาสนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ความว่า “คนเราทุกคน แม้จะมีความรู้ความสามารถสูงเพียงใดก็ตาม ย่อมไม่อาจทำงานสร้างสรรค์ความสำเร็จได้โดยลำพัง หากต้องได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากผู้อื่น ฝ่ายอื่นอย่างพร้อมเพรียงด้วย

แต่การจะได้รับความร่วมมือ และความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติของแต่ละคนเป็นสำคัญ ในโอกาสที่บัณฑิตทั้งหลายสำเร็จการศึกษา จะต้องออกไปทำงานร่วมกับผู้อื่น

ข้าพเจ้าจึงใคร่จะกล่าวถึงข้อที่ทุกคนควรปฏิบัติต่อกัน 3 ประการ ประการแรก คิดดี คือ มีความเมตตาปรานีต่อกัน ไม่คิดเพ่งโทษผู้อื่น หรือเห็นความสำคัญของตนยิ่งกว่าคนอื่น ประการที่สอง พูดดี คือ พูดในสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้ ความดี และความเข้าใจอันดีต่อกัน ไม่พูดในสิ่งที่ก่อให้เกิดความแตกแยก หรือเป็นโทษเสียหายแก่ผู้อื่น ประการที่สาม ทำดี คือ ปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความเคารพให้เกียรติ สุภาพ และเป็นมิตร โดยสุจริตจริงใจ ไม่ทำโดยเพทุบาย หรือมีเจตนาอันไม่บริสุทธิ์แอบแฝง

จึงขอให้บัณฑิตทุกคนพยายามฝึกฝนการประพฤติปฏิบัติทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ ตามนัยที่กล่าวมานี้ให้ครบถ้วน แต่ละคนจะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างราบรื่น ให้งานที่ทำสำเร็จผลเป็นประโยชน์แก่ตน แก่หน่วยงาน และแก่ชาติบ้านเมืองโดยสมบูรณ์”
กำลังโหลดความคิดเห็น