ศูนย์ข่าวขอนแก่น - โรงพยาบาลศรีนครินทร์พร้อมยกระดับสู่การให้บริการทางการแพทย์ระดับเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือเมดิคอล ฮับ เผยศักยภาพปัจจุบันเป็นโรงพยาบาลทันสมัยที่สุดในภาคอีสานและอินโดจีน ล่าสุดทุ่มงบกว่า 4,000 ล้านสร้างอาคาร “เมดิคอลฮับ” คาดแล้วเสร็จใน 4 ปี
วันนี้ (23 ก.ค.) ที่ห้องมิตรภาพ อาคารเรียนรวมชั้น 3 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักประชาสัมพันธ์เขต 1 จัดโครงการประชาสัมพันธ์เสริมสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทย : Modern Medical Hub ภาพลักษณ์ใหม่ของไทยในอาเซียน ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ชาวต่างชาติ ในการเตรียมความพร้อมเป็น Medical Hub แห่งอาเซียน ศูนย์กลางบริการสุขภาพชั้นเลิศ
ปัจจุบันโรงพยาบาลศรีนครินทร์เป็นโรงพยาบาลที่ทันสมัยที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีบุคลากรมากกว่า 4,000 คน มีแพทย์เฉพาะทางหลายร้อยคนจากทุกสาขาวิชาการแพทย์ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2556 ผู้ป่วยนอกกว่า 800,000 ราย และผู้ป่วยในกว่า 45,000 ราย นอกจากนี้ยังเป็นโรงพยาบาลหลักของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านการบริการทางการแพทย์ปัจจุบัน ได้แก่ ศูนย์ภาพวิจัยทางรังสีขั้นสูง ศูนย์โรคมะเร็งท่อน้ำดี ศูนย์จักษุ ศูนย์บริการโรคไต ศูนย์ปลูกถ่ายอวัยวะและหน่วยการุณรักษ์
ปัจจุบันกำลังเตรียมความพร้อมเป็นศูนย์กลางสุขภาพแห่งภูมิภาค โดยมี 6 คณะรองรับด้านสุขภาพ ประกอบด้วย คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะเทคโนโลยีด้านอาหาร คณะสัตวแพทยศาสตร์ รวมทั้งมีศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ซึ่งต่อไปจะเปิดศูนย์ไตและศูนย์ตับ
รวมถึงโครงการก่อสร้างอาคาร Medical Hub ในพื้นที่ 24 ไร่ ติดกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์แบบครบวงจรที่มีชื่อเสียงในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และพร้อมเปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ระดับเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพิ่มเติม ได้แก่ ศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ผ่าตัดผ่านกล้อง ศูนย์อนามัยเจริญพันธุ์ ศูนย์นิติพันธุศาสตร์
รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลศรีนครินทร์ได้เปิดให้บริการคลินิกพิเศษนอกเวลาเพื่อรองรับความต้องการของผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้ป่วยในพื้นที่ภาคอีสาน และประเทศเพื่อนบ้าน
ปัจจุบันมีผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์เมื่อปี 2556 เป็นผู้ป่วยนอก 8,000-9,000 ราย ผู้ป่วยในประมาณ 300 ราย ครึ่งหนึ่งเป็นคนลาว รองลงมาเป็นคนจีน เวียดนาม กัมพูชา ส่วนชาวต่างชาติจะมีทุกประเทศ เช่น อเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมไปถึงประเทศแอฟริกา อเมริกาใต้ บราซิล อาร์เจนตินา โดยชาวต่างชาติจะเข้ามารับการรักษาโรคมะเร็งมากที่สุด รองลงมาเป็นโรคทางด้านสมอง
รศ.นพ.ชาญชัยกล่าวว่า การเปิดให้บริการทางการแพทย์ระดับเชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือเมดิคอลฮับ จะต้องรอให้อาคารเมดิคอลฮับก่อสร้างแล้วเสร็จก่อน โดยโครงการดังกล่าวรัฐบาลจัดสรรงบประมาณสมทบกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น วงเงินรวมกว่า 4,000 ล้านบาท หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 460 เตียง มีห้องผู้ป่วยไอซียู 90 เตียง มีห้องผ่าตัดรวม 36 ห้อง และต้องเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์อีก 270 อัตรา พยาบาลอีกหลายร้อยอัตรา เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอรัฐบาลชุดใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไม่เกิน 4 ปี และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ หลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558