xs
xsm
sm
md
lg

ไทยและพม่า ล่องโขงดูสะพานเชื่อมพม่า-ลาวคืบ เชื่อเสร็จปลาย 58 แน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เชียงราย – ตัวแทนภาครัฐ-เอกชน ทั้งไทย และพม่า ล่องเรือดูการก่อสร้างสะพานข้ามโขงเชื่อมพม่า-ลาวแห่งแรก พบคืบหน้าไม่หยุด เชื่อเสร็จตามกำหนดปลายปี 58 แน่

วันนี้(22 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของ จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า และตัวแทนภาครัฐ-เอกชนในเชียงราย ได้เดินทางด้วยเรือกาสะลองคำ 1 ของบริษัท แม่โขง เดลต้า ทราเวล เอเจนซี่ จำกัด จากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ไปตามแม่น้ำโขงชายแดนไทยพม่า-สปป.ลาว

ทั้งนี้ เพื่อสำรวจเส้นทางไปจนถึงจุดก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมพม่า-สปป.ลาว ตรงเมืองเชียงลาบกับแขวงหลวงน้ำทา ห่างจาก อ.เชียงแสน ไปทางทิศเหนือประมาณ 82 กิโลเมตร

การล่องเรือในแม่น้ำโขง เป็นไปด้วยความสะดวก และพบเรือลาดตระเวนของทางการพม่า ที่จัดตั้งขึ้นหลังเกิดเหตุการณ์ปล้น-ฆ่าลุกเรือจีน 2 ลำเมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา จอดอยู่ในจุดสำคัญ ป้องกันเหตุร้ายด้วย

เมื่อคณะฯไปถึงจุดก่อสร้างสะพานเชื่อมพม่า-สปป.ลาว พบว่า การก่อสร้างคืบหน้าอย่างรวดเร็ว มีการตั้งเสาตอม่อผ่านกลางแม่น้ำโขงแล้ว แต่กระแสน้ำในฤดูนี้เชี่ยวกราด ทำให้งานบางส่วนต้องหยุดชั่วคราว มีการงานก่อสร้างบนบกหรือส่วนที่อยู่เหนือน้ำเท่านั้น ที่ยังคงเดินหน้าต่อเนื่อง

ด้าน น.ส.ผกามาศ เวียร์ร่า ประธานหอการค้า อ.แม่สาย -ผู้บริหารบริษัทแม่โขงเดลต้าฯ กล่าวว่า จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่าการก่อสร้างสะพานคืบหน้ามาก มีการวางเสาตอม่อจนเกือบสุดแล้ว

ปัจจุบันจึงเป็นงานเกี่ยวกับการเชื่อมและวางตัวสะพาน ซึ่งแม้ว่าช่วงน้ำหลากงานบางส่วนต้องชะลอไปก่อนก็ตาม แต่เชื่อว่าสะพานแห่งนี้จะแล้วเสร็จในปลายปี 58 แน่นอน เพราะทางเจ้าหน้าที่ได้มีการควบคุมดูแลโครงการก่อสร้างอย่างเข้มงวด

สำหรับสะพานแม่น้ำโขงเชื่อมพม่า-สปป.ลาว แห่งแรกนี้ ก่อสร้างระหว่างเมืองเชียงลาบ หรือเวียงแคว้นสา ในฝั่งประเทศพม่า ซึ่งเป็นที่อยู่เก่าแก่ของชาวไทลื้อ บางครั้งก็เรียกกันว่า เมืองโขงหรือโขงโค้ง ส่วนฝั่ง สปป.ลาว คือบ้านเชียงกก เมืองลอง แขวงหลวงน้ำทา ตั้งอยู่ห่างจาก อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 82 กิโลเมตร ในอดีตเป็นเมืองท่าเพื่อการพักค้างแรมของเรือในแม่น้ำโขง

โดยทางพม่า และ สปป.ลาว ได้ลงนามก่อสร้างในปี 2554 ด้วยงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รูปแบบสะพานเป็นแบบเหล็กโครงถัก หรือยึด (Steel Truss) ยาว 691.6 เมตร กว้าง 10.9 เมตร ประกอบด้วยผิวจราจรจำนวน 2 ช่องทางจราจร รวมทั้งมีทางเดินเท้าทั้ง 2 ข้าง กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือน ส.ค.2558

สะพานแห่งนี้นอกจากจะเชื่อม 2 ประเทศ ยังเชื่อมโยงเส้นทางสายอาร์สามบี (อ.แม่สาย จ.เชียงราย-พม่า-จีนตอนใต้) กับถนนอาร์สามเอ (อ.เชียงของ-สปป.ลาว-จีนตอนใต้)เข้าด้วยกันอีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น