เชียงราย - ทหาร และฝ่ายปกครองลงตรวจท่าเรือริมน้ำโขงชายแดนเชียงแสน ก่อนไฟเขียวเปิดให้บริการอีกครั้ง เริ่ม 23 มิ.ย.นี้ รองรับนักท่องเที่ยวล่องเรือเที่ยวสามเหลี่ยมทองคำ หลังสั่งปิด และจัดระเบียบใหม่ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ
พ.อ.ยงยุทธ เหล่าเขตร์การ ผบ.ฉก.ม.3 กองกำลังผาเมือง น.อ.ภานุ รัตนนันทวาที ผบ.หน่วยเรือรักษาความสงบตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย นายวีระศักดิ์ ศิริสิทธิ์ นายอำเภอเชียงแสน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการชายแดนด้านแม่น้ำโขงไทย-สปป.ลาว ได้ลงตรวจท่าเรือหิรัญนคร สามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบกก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน วานนี้ (20 มิ.ย.)
เพื่อตรวจสอบความพร้อมของท่าเรือ ก่อนที่จะอนุญาตให้มีการเปิดให้บริการรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการนั่งเรือแม่น้ำโขงไปตามจุดต่างๆ ได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.นี้เป็นต้นไป หลังจากปิดให้บริการมาตั้งแต่เกิดการยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พ.ค.57 และมีการจัดระเบียบท่าเรือแม่น้ำโขงใหม่ โดยให้ผู้จะเดินทางเข้าออกไปใช้บริการที่จุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 200 เมตรแทน
ต่อมา เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองโดยเฉพาะ จ.เชียงราย พบว่าไม่มีความผิดปกติ และรุนแรง รวมทั้งมีการพัฒนาปรับปรุงท่าเรือหิรัญนคร มีอาคารให้เจ้าหน้าที่ตำรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เจ้าท่า ศุลกากร ฯลฯ เข้าปฏิบัติหน้าที่
ด้านนายจำรัส โกฏิยี่ นายกเทศมนตรี ต.เวียงเชียงแสน กล่าวว่า หลังจากมีการจัดระเบียบการเข้าออกแดนหลังการประกาศใช้กฎอัยการศึก ได้ทำให้มีการเข้มงวดจุดกำหนดจุดเข้าออกมากขึ้น ดังนั้น ช่วงที่ผ่านมาจึงได้ปรึกษากับฝ่ายทหาร จนมีการอนุญาตให้ใช้ท่าเรือท่องเที่ยวดังกล่าวในที่สุด ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ชาวบ้าน และคนเดินเรืออย่างมาก
ก่อนหน้านี้ ท่าเรือน้ำโขงของเอกชนที่ให้บริการนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า-ออกจากฝั่งไทย อ้อมไปทางฝั่งพม่า เพื่อชมทิวทัศน์แม่น้ำโขง และไปเกาะดอนซาว เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว หรือเข้าไปยังโครงการคิงส์โรมันในเมืองต้นผึ้ งรวมทั้งไปทางหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน มีนับ 10 แห่ง และถือเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งมีเรื่องยาเสพติดด้วย
หลังการยึดอำนาจโดย คสช. ฝ่ายความมั่นคงจึงจัดระเบียบใหม่ จำกัดสถานที่เข้า-ออกชายแดนด้านนี้ได้เพียง 2 แห่ง คือ จุดผ่านแดนถาวรหน้าที่ว่าการ อ.เชียงแสน และที่จุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจุดผ่านแดนถาวรสามเหลี่ยมทองคำคับแคบ และไม่มีสถานจอดรถทำให้มีการอนุญาตให้ท่าเรือหิรัญนครเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งดังกล่าว