xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการแนะ ปฏิรูประบบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย
ศูนย์ข่าวศรีราชา - นักวิชาการแนะแนวทางการปฏิรูประบบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลสิ่งแวดล้อม(EIA) ให้ทันสมัย เพื่อลดความขัดแย้งทางสังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน

นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากกระแสการปฏิรูประบบประเทศไทยกำลังเป็นที่สนใจของประชาชนโดยเฉพาะการเรียกร้องจากภาคประชาชนให้เร่งปฏิรูปเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงระบบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)ให้ทันสมัยเพื่อลดความขัดแย้งทางสังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน

ที่ผ่านมาพบว่าโครงการที่เข้าข่ายประเภทและขนาด ที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)จำนวน 35 ประเภท มีหลายโครงการที่ได้รับความเห็นชอบรายงาน และได้รับการอนุมัติโดยขัดกับความรู้สึกของประชาชน ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย โดยเฉพาะโครงการในภาคตะวันออก มีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทปิโตรเคมี เคมี โรงไฟฟ้า และนิคมอุตสาหกรรมเข้าไปตั้งในจ.ชลบุรี และจ.ระยอง

นอกจากนี้ในพื้นที่อื่นของประเทศก็เกิดความขัดแย้ง เช่น โครงการเหมืองแร่โปรแตช จ.อุดรธานี การขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทย การเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ เป็นต้น การอนุมัติโครงการขนาดใหญ่จะต้องผ่านการพิจารณารายงานจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน ภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ซึ่งมีจุดอ่อนที่ภาคประชาชนไม่ยอมรับ คือ การจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีลักษณะเป็น Project by Project ไม่ได้มองภาพรวมของพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดโครงการในบางพื้นที่จำนวนมากเกินกว่าที่ประชาชนจะยอมรับได้ เช่น โครงการคอนโดมิเนียมริมทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมรุกล้ำพื้นที่ไร่นาของประชาชน เนื่องจากไม่มีผังเมือง เป็นต้น

การพิจารณารายงานทั้งหมดดำเนินการที่ส่วนกลาง โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.) ซึ่งคชก.จะพิจารณาจากข้อมูลที่ปรากฏในรายงานที่เจ้าของโครงการ/ที่ปรึกษาส่งมาให้ โดยที่ไม่มีประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการเป็นคณะกรรมการแต่อย่างใด นอกจากนี้ประชาชนยังสงสัยที่มาของการเลือกบุคคลมาเป็นคชก. และคชก.ได้รับการยอมรับจากภาคประชาสังคมหรือไม่อีกด้วย

รวมถึงที่ปรึกษาจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ได้รับการว่าจ้างจากเจ้าของโครงการโดยตรง ทำให้เกิดข้อครหาว่าเป็นลูกจ้างเจ้าของโครงการ มีหน้าที่ต้องทำให้รายงานให้ผ่านความเห็นชอบให้ได้ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว ที่ปรึกษาต้องใช้หลักวิชาการทำรายงานด้วยความเป็นกลาง ขระเดียวกันประชาชนยังขาดการมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงาน จนอาจเกิดกลุ่มบุคคล 2 กลุ่มที่ขัดแย้งกันในพื้นที่ คือ กลุ่มที่เอากับไม่เอาโครงการ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการของคชก. เป็นระบบราชการภายใต้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาถูกมองว่าอาจถูกกลุ่มการเมืองสั่งการให้เห็นชอบหรือไม่ก็ได้ รวมทั้งอาจไม่มีความเป็นอิสระทางวิชาการเท่าที่ควร ซึ่งจะเห็นได้ว่าข้อเสนอแนะของคชก.บางชุด ขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชน และนักวิชาการในพื้นที่อยู่บ่อยครั้ง

นายสนธิ กล่าวว่า สำหรับแนวทางการปฏิรูประบบการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ควรจะต้องมีการปฏิรูปใหม่ดังนี้ คือ 1.ทุกจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ควรทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของตนเอง ว่าพื้นที่ใดสามารถพัฒนาได้หรือไม่ได้ ตามหลักการทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐศาสตร์ วิศวกรรม ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาชนจะต้องระดมความคิดเห็นร่วมกันว่า จะพัฒนาอะไร เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะต้องถูกกำหนดเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาของจังหวัดที่ชัดเจน การศึกษาดังกล่าวเรียกว่าการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment)

2.โครงการพัฒนาที่จะไปจังหวัดใด ต้องอยู่ในพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ของจังหวัดนั้น หากโครงการเข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม จังหวัด/พื้นที่ต้องจัดตั้งคณะกรรมการกำกับและตรวจสอบการจัดทำรายงาน ประกอบด้วย หน่วยราชการ ประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยโครงการต้องทำให้คณะกรรมการมีความรู้ความเข้าใจและเห็นชอบกับรายงานดังกล่าวก่อน จึงส่งรายงานไปให้คชก.เพิ่มเติมมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหน่วยงานอนุญาตออกใบอนุญาตต่อไป

3.สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควรแยกออกไปตั้งเป็นองค์กรอิสระหรืองค์กรมหาชนที่มีกฎหมายรองรับ ทำหน้าที่รับผิดชอบเงินกองทุนการจัดทำรายงาน โดยกำหนดให้โครงการที่ต้องจัดทำรายงาน ต้องนำงบประมาณตามที่กำหนด ใส่ไว้ในกองทุนดังกล่าว และองค์กรดังกล่าวจะนำงบประมาณไปจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงาน ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการในจังหวัด/พื้นที่ต่อไป

4.การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเลือกพื้นที่พัฒนาของจังหวัดภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และการจัดทำรายงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการจังหวัด/พื้นที่ จะทำให้ประชาชนเกิดความไว้วางใจ และเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะยอมรับให้โครงการมาตั้งในพื้นที่หรือไม่ ซึ่งจะเป็นการลดความขัดแย้ง และเพิ่มการยอมรับในกระบวนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นการกระจายอำนาจการพิจารณาออกไปสู่ท้องถิ่น แทนที่จะรวบอำนาจการพิจารณาไว้ที่ส่วนกลางเหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น