ศูนย์ข่าวศรีราชา - มทบ.14 เตรียมจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างในเมืองพัทยากว่า 21 พันราย ลดปัญหาความเดือดร้อนประชาชน ล้างอิทธิพลค่าหัวคิว หลังพบปัญหาหมักหมมมานาน ดีเดย์ 1 ก.ค.นี้
วันนี้(25 มิ.ย.) ที่โรงเรียนเมืองพัทยา 8 พัทยานุกูล ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี พล.ต.ณัฐ อินทรเจริญ ผบ.มทบ.14 เป็นประธานประชุมกำหนดมาตรการจัดระเบียบรถจักรยานยนต์รับจ้างในเขตเมืองพัทยา ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เพื่อลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังดำเนินการมาแล้วในกรุงเทพฯ โดยด้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา และผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้างที่เข้าร่วมกว่า 2,000 ราย
พล.ต.ณัฐ กล่าวว่า พัทยาถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ มีประชากรและนักท่องเที่ยวอยู่ร่วมกันกว่า 1 ล้านคน งานด้านการบริการจึงเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถสหกรณ์สองแถว รถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่พบว่าที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ แทนที่จะได้รับความสะดวกสบาย กลับกลายเป็นมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน และไม่ได้รับความเป็นธรรม ทั้งเรื่องค่าโดยสาร และการบริการที่ขาดประสิทธิภาพ
อีกทั้งผู้ประกอบการยังไม่มีมาตรการจัดระเบียบที่ชัดเจน มีการจัดตั้งวินบนพื้นที่สาธารณะ การเดินรถไม่ตรงเส้นทางที่กำหนด เป็นต้น อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องของผู้มีอิทธิพล ที่แฝงตัวหาผลประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย
ปัจจุบันคสช.ได้มอบหมายให้มทบ.14 ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แก้ปัญหาและจัดระเบียบอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการเรียกพบผู้ประกอบการ ที่ทำกินในพื้นที่เมืองพัทยาในเขตพื้นที่ชายหาดพัทยากลาง พัทยาใต้ พัทยาสาย 2 และ 3 รวม 10 โซน ซึ่งมีรวมกันกว่า 2,00 ราย เพื่อจัดเก็บข้อมูลจำนวนวิน จำนวนผู้ประกอบการ พร้อมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อนำมากำหนดมาตรการจัดระเบียบที่ชัดเจน เป็นธรรม และถูกต้องตามกฎหมาย
สำหรับมาตรการสำคัญที่จะมีจัดทำเป็น Road Map ใน 3 ขั้นตอนหลัก ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 การจัดระเบียบ ทำความเข้าใจ เพื่อให้ผู้ประกอบการละเลิกพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาผู้ขับขี่ มาเฟีย และเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาหาประโยชน์โดยมิชอบ ขั้นที่ 2 กำหนดการวางระเบียบ มาตรการ แนวทางพ.ร.บ.การจราจร สร้างและปรับปรุงให้ทันสมัย และขั้นที่ 3 สร้างคามยั่งยืน ผลักดันกลไกทีวางไว้ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งกลไกลทั้งหมดนี้จะต้องก่อให้เกิดการแก้ปัญหา ไม่มีผู้มีอิทธิพลเก็บค่าหัวคิว ซึ่งเป็นผลพวงทำให้ผู้ประกอบการไปเรียกเก็บค่าโดยสารไม่เป็นธรรม และเน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ด้านนายอิทธิพล กล่าวว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นนโยบายของคสช. เพื่อการพัฒนาระบบขนส่งให้เป็นระบบ จึงได้มีการจัดดำเนินการขึ้นเป็นโซนที่ 1 จากทั้งหมด 4 โซน ซึ่งได้ดำเนินการขึ้นแล้วอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือว่าจะเกิดผลดีแก่การท่องเที่ยว และประชาชนเป็นย่างมาก ทั้งเรื่องของที่ตั้งวินที่ชัดเจน ไม่ส่งผลต่อระบบการจราจร ค่าโดยสารที่เป็นธรรม และการบริการที่ประทับใจ โดยไม่มีเรื่องของผู้มีอิทธิพล หรือผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ข่าวแจ้งว่า จากการสำรวจพบว่าในเมืองพัทยามีวินที่จดทะเบียน 1,091 คัน ส่วนอีกกว่า 2,500 คันยังไม่จดทะเบียน ซึ่งจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมประจำพื้นที่ ซึ่งรวมเอาทหาร ตำรวจ ขนส่งพื้นที ขนส่งจังหวัด และตัวแทนจังหวัดเข้าร่วม เพื่อหารือการพิจารณาคำร้องออกหนังสือรับรองการจัดตั้งวิน กำหนดสถานที่รองรับ กำหนดเส้นทาง ออกหนังสือรับรอง ใบอนุญาตการขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าจ้างที่ไม่เกินกรอบของกฎหมาย ซึ่งจะมีผลการปฏิบัติในด้านราคา ภายในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้