xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงเปิดรับฟังความคิดเห็นแนวเส้นทางเลือกมอเตอร์เวย์สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมศักดิ์ บุญประธานพร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประเมินผล สำนักงานกรมทางหลวง
ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมทางหลวง นำเสนอแนวเส้นทางเลือกที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นชาวชลบุรี เดินหน้ามอเตอร์เวย์สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี

วันนี้ (17 มิ.ย.) นายประธาน สุรกิจบวร หัวหน้าสำนักงานจังหวัดชลบุรี เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อสรุปผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสมของโครงการการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย
 
พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ บุญประธานพร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประเมินผล สำนักงานกรมทางหลวง นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศบาลนครแหลมฉบัง และนายบุญเลิศ น้อมศิลป์ ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีเทศบาลนครแหลมฉบัง โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และประชาชนในพื้นที่ อ.บางละมุง อ.ศรีราชา อ.หนองใหญ่ อ.บ้านบึง อ.เกาะจันทร์ และ อ.บ่อทอง จ. ชลบุรี เข้าร่วมการสัมมนากว่า 200 คน

นายสมศักดิ์ บุญประธานพร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประเมินผล สำนักงานกรมทางหลวง เผยว่า การสัมมนาครั้งนี้ เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมที่สุดโดยแนวเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดจาก 4 แนวทางเลือก ซึ่งได้พิจารณาจากผลการศึกษาทั้งด้านวิศวกรรม และจราจรด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งสรุปได้ว่า สามารถรองรับปริมาณการจราจร และส่งเสริมโครงข่ายถนนได้ดี ค่าก่อสร้างต่ำที่สุด มีผลกระทบด้านการแบ่งแยกชุมชน การเวนคืนที่ดิน และการโยกย้ายสิ่งปลูกสร้างค่อนข้างน้อย

โดยแนวเส้นทางที่เลือก จะเริ่มต้นจากทางหลวงหมายเลข 3 (ถ.สุขุมวิท) บริเวณ กม.130+500 อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ตัดข้ามทางรถไฟ และเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 บริเวณบ้านหนองแขวะ ต.บึง ผ่านนิคมอุตสาหกรรมบ่อวิน และตัดข้ามทางหลวงหมายเลข 331 บริเวณบ้านศิริอนุสรณ์ ต.เขาคันทรง ข้ามทางหลวงหมายเลข 3241 จนถึงบริเวณด้านใต้ของแนวเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเขาเขียว-เขาชมภู่ จากนั้นจะขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 331 และตัดข้ามทางหลวงหมายเลข 331 บริเวณบ้านเขาคันทรง เพื่อข้ามทางหลวงหมายเลข 344 ที่บริเวณชุมชนบ้านหนองนอก ต.หนองไผ่แก้ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี มุ่งหน้าไปทางทิศเหนือตัดข้ามทางหลวงหมายเลข 3340 บริเวณบ้านเนินสวรรค์

แนวเส้นทางอยู่ด้านทิศตะวันตกของโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง จากนั้นตัดข้ามทางหลวงหมายเลข 3245 บริเวณบ้านหนองปลาดุก ตรงขึ้นไปเรื่อยๆ จนข้ามทางหลวงหมายเลข 3259 ที่บริเวณบ้าน กม.4 เข้าสู่พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา และไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 359 บริเวณบ้านหว้าเอน ต.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 119.2 กิโลเมตร

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า แนวคิดในการออกแบบเบื้องต้นโดยแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.) รูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่มีทางบริการ ใช้สำหรับพื้นที่ที่มีชุมชน โดยจะออกแบบในเขตทางกว้าง 100 เมตร เป็นถนนสายหลักขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.6 เมตร และมีทางบริการทั้งสองข้าง ข้างละ 2 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3 เมตร 2.) รูปแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองที่ไม่มีทางบริการ ใช้สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีชุมชน โดยออกแบบในเขตทางกว้าง 70 เมตร เป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร กว้างช่องละ 3.6 เมตร โดยทั้ง 2 แบบ มีไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 3 เมตร และมีเกาะกลางแบบร่องกว้าง 3.6-6.3 เมตร เช่นกัน

โดยข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชนที่ได้รับจากการประชุมครั้งนี้จะนำไปประกอบในการพิจารณาปรับปรุงรายละเอียดโครงการโดยเฉพาะในเรื่องของการออกแบบเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนให้ได้มากที่สุดต่อไป โดยหลังจากนี้นะกลับไปศึกษา และกรอบการดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อความเหมาะสม และจะมีการรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งคาดว่าอีกประมาณ 3-4 เดือนข้างหน้า หลังจากนั้น จึงจะสรุปและนำเสนอคณะรัฐมนตรี เห็นชอบหลังจากนั้นจึงสามารถบอกได้ว่าจะเริ่มดำเนินการได้เมือไหร่

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายชลบุรี-หนองคาย ตอนชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง) ปราจีนบุรี (ทางหลวงหมายเลข 359) เส้นทางช่วงต้นจากบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไปถึง จ.ปราจีนบุรี ในระยะทางกว่า 125 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพสูงในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายลอจิสติกส์ของประเทศ โดยเป็นเส้นทางรองรับปริมาณการคมนาคมขนส่ง จากโรงงานอุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ตามแนวเส้นทางเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง
 
อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อกับโครงข่ายทางหลวงสายหลัก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางขนส่งไปยังด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ซึ่งเป็นประตูการค้าที่สำคัญของไทยกับประเทศกัมพูชา

เส้นทางดังกล่าวจะช่วยให้การเดินทาง และขนส่งสินค้าในพื้นที่ตามแนวเส้นทางดังกล่าวมีความสะดวก รวดเร็ว ตรงต่อเวลา ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ ลดปัญหาการจราจรติดขัด และบรรเทาปัญหาจราจรบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงทางแยกต่างระดับหนองขาม-ท่าเรือแหลมฉบัง ที่จะมีปริมาณจราจรเพิ่มมากขึ้นในอนาคต



กำลังโหลดความคิดเห็น