ศูนย์ข่าวศรีราชา - รพ.กรุงเทพพัทยา ชูความพร้อมเครื่องมือแพทย์ทันสมัย รับการผ่าตัดให้มีขนาดแผลเล็กหวังช่วยผู้ป่วยฟื้นตัวไว หลังพบแนวโน้มการเข้ารับการรักษาของกลุ่มคนไข้ที่มีอาการนิ้วล็อก จากกลุ่มผู้สูงวัยทั้งชาวไทยและต่างชาติที่มากขึ้น เช่นเดียวกับกลุ่มคนทำงานที่มีแนวโน้มเจ็บป่วยจากอาการออฟฟิศ ซินโดรม เพราะไม่ออกกำลังกาย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ผิด จนต้องเข้ารับการรักษาอาการหมอนรองกระดูกอักเสบ รวมถึงอุบัติเหตุจากการทำงาน
นายแพทย์สุรเดช ลอยเดือนฉาย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่ออวัยวะและกระดูก โรงพยาบาลกรุงเทพพัทยา เผยว่า ปัจจุบันสถิติผู้เข้ารับการรักษาด้านการผ่าตัดต่อนิ้ว และมือจากการเกิดอุบัติเหตุด้านการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอยู่โดยรอบเริ่มมีจำนวนมากขึ้น จากความประมาทในการทำงาน และการไม่ใส่ใจในกฎระเบียบของการใช้เครื่องมือในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ขณะนี้โรงพยาบาลฯ ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องเครื่องมือผ่าตัด และการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินจากกรณีดังกล่าว
โดยให้ความสำคัญต่อการรักษาด้วยการผ่าตัดให้แผลเล็ก เพื่อช่วยผู้ป่วยให้ฟื้นจากอาการบาดเจ็บ และแผลผ่าตัดได้ไว
และอีกหนึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย คือ การนำกล้องจุลทรรศน์เข้าช่วยในการผ่าตัดมือ ให้แก่ผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุร วมถึงผู้ที่มีอาการนิ้วล็อกจากการทำงาน หรือการใช้เครื่องมือสื่อสารที่มากเกินไป รวมถึงการรักษาผู้ป่วยนิ้วล็อกซึ่งเป็นผู้สูงวัย
“ขณะนี้ศูนย์ศัลยกรรมกระดูกและข้อ รพ.กรุงเทพพัทยา ได้นำเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยในทุกชนิดเข้ามาใช้ในการรักษาคนไข้ทั้งกลุ่มที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการนิ้วล็อก กลุ่มคนไข้ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า ข้อสะโพก และต่อนิ้ว ซึ่งมาจากหลายสาเหตุการป่วย โดยการนำเข้าเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยก็เพื่อมุ่งเน้นการรักษาด้วยการผ่าตัดให้แผลเล็กเพื่อให้คนไข้ฟื้นจากอาการบาดเจ็บจากแผลผ่าตัดได้เร็ว”
นายแพทย์สุรเดช ยังเผยอีกว่า ปัจจุบันกลุ่มคนไข้ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานพบว่า มีแนวโน้มการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับข้อ และกระดูกมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ขาดการออกกำลังกาย ขาดการยืดกล้ามเนื้อ และการทำงานอยู่กับคอมพิวเตอร์ในท่าทางที่ผิด รวมทั้งการใช้นิ้วเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือมากจนเกินไป ทางโรงพยาบาลฯ จึงวางแผนการรักษา และรองรับคนไข้กลุ่มนี้ รวมทั้งกลุ่มผู้สูงอายุทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่ได้รับอุบัติเหตุจากการหกล้มจนกระดูกหัก ด้วยการวางแนวทางรักษาด้วยยา กายภาพ ไปจนถึงการผ่าตัด
“การผ่าตัดนิ้วล็อค เมื่อก่อนกลุ่มผู้ป่วยจะมีอายุ 50-60 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันกลับพบว่า กลุ่มคนไข้มีอายุเหลือเพียง 30-40 ปี นอกจากนั้น คนไข้กลุ่มหลังยังมีอาการกล้ามเนื้อต้นคออักเสบ และอาการหมอนรองกระดูกอักเสบมากขึ้นจากการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่นานเกินไป” นายแพทย์สุรเดช กล่าว