xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนากุ้งกาฬสินธุ์อ่วมอากาศวิปริตกุ้งน็อกตาย สูญรายได้นับพันราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 นายอุทัย  บุญขจร ประมงอำเภอยางตลาด พร้อมคณะ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม
กาฬสินธุ์ - กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ 3 ตำบลกว่า 1,000 รายอ่วม หลังกุ้งน็อกตายจากสภาพอากาศที่วิปริตรายละ 100-300 กิโลกรัม รายได้สูญรายละ 3 หมื่นถึง 8 หมื่นบาท เรียกร้องส่วนราชการช่วยเหลือ ขณะที่ประมงอำเภอลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย

วันนี้ (12 มิ.ย.) ที่ศาลาการเปรียญวัดโพธิ์ชัยบ้านตูม ม.4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายอุทัย บุญขจร ประมงอำเภอยางตลาด พร้อมคณะลงพื้นที่รับฟังปัญหาของกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม โดยมีนางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 นายวิรัล พลช่วย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 นายสเตรสฉัน ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 19 และตัวแทนผู้เลี้ยงกุ้งจาก ต.นาเชือก ต.เขาพระนอน จำนวน 300 ราย ร่วมลงชื่อและให้ข้อมูลความเสียหาย

นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านบ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เนื่องจากช่วงนี้อากาศวิปริตทั้งร้อนจัดและมีฝนตก ประกอบกับที่เขื่อนลำปาวหยุดการส่งน้ำ ทำให้กุ้งก้ามกรามของเกษตรกรปรับตัวไม่ทัน เกิดการน็อกตายต่อเนื่องทุกวัน เฉลี่ยเกิดความเสียหายรายละ 100-300 กิโลกรัม มูลค่ารายละ 3 หมื่นถึง 8 หมื่นบาท หรือภาพรวมกว่า 30 ล้านบาท

จึงได้รายงานความเสียหายให้ทางอำเภอทราบปัญหาที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งเป็นอาชีพหลักของพื้นที่ แต่ขณะนี้กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากภัยธรรมชาติดังกล่าว

ด้านนางบุญรัตน์ รังสร้อย 50 ปี ชาวนากุ้งบ้านตูม หมู่ 4 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนเลี้ยงกุ้ง 10 ไร่ แต่ได้เกิดน็อกตายประมาณ 300 กิโลกรัมทำให้ประสบปัญหาขาดทุน ต้องมีหนี้สินเพิ่มและต้องลำบากกู้เงินมาลุงทุนใหม่ อย่างไรก็ตาม อยากวิงวอนให้ส่วนราชการหามาตรการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งด้วย เพราะต้องแบกรับภาระหนักมาก ทั้งราคาพันธุ์ลูกกุ้งที่แพงตัวละ 29 สตางค์ และอาหารกุ้งกิโลกรัมละ 35 บาท ทั้งยังมาประสบปัญหากุ้งน็อกตายจากสภาพดินฟ้าอากาศอีก จึงอยากวิงวอนให้ส่วนราชการควบคุมราคาและเร่งช่วยเหลือด้วย

นายอุทัย บุญขจร ประมงอำเภอยางตลาด กล่าวว่า หลังทราบปัญหาได้ลงพื้นที่สำรวจพร้อมจัดเวทีประชาคมรับฟังปัญหาและความคิดเห็น เพื่อนำข้อมูลรายงานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) ต่อไป ทั้งนี้ จ.กาฬสินธุ์มีพื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามส่วนมากในเขต ต.บัวบาน ต.นาเชือก และ ต.เขาพระนอน อ.ยางตลาด ประมาณ 1,200 รายที่ถือว่าเป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน

ทั้งนี้ จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่ ขั้นตอนต่อไปคือการทำรายงานเพื่อนำข้อเสนอและข้อเท็จจริงนำเสนอต่ออำเภอและจังหวัด และความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกรามจะต้องมีผู้มาช่วยเหลือ ซึ่งทางประมงอำเภอยางตลาดจะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่” ประมงอำเภอกล่าว

สำหรับกุ้งก้ามกรามเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของ จ.กาฬสินธุ์ เคยเลี้ยงกันมากในเขต อ.ยางตลาด และ อ.เมืองกาฬสินธุ์ เคยสร้างรายได้แก่เกษตรกรทั่วจังหวัดมูลค่าปีละนับพันล้านบาท ปัจจุบันราคาจำหน่ายที่ปากบ่อกิโลกรัมละ 260-300 บาท แต่มีแนวโน้มขาดตลาดเนื่องจากน็อกตายเพราะสาเหตุสภาพอากาศวิปริต และเขื่อนลำปาวที่เป็นแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงกุ้งงดส่งน้ำจากภาวะภัยแล้ง




กำลังโหลดความคิดเห็น