xs
xsm
sm
md
lg

"คนเก่ง" VS "คนดี" ในทัศนะพระว.วชิรเมธี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป็นที่น่าสังเกตว่าสังคมไทยปัจจุบันกำลังเน้นให้นักเรียน-นักศึกษาเป็น "คนเก่ง" มากกว่าจะเน้น "จริยธรรม" ดังนั้นคำถามคือจะดีกว่าไหม ถ้าผู้ใหญ่หันไปผลักดันหลักสูตรเสริมสร้างจริยธรรมมากกว่าจะเน้นให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียว

ทั้งนี้พระนักคิดชื่อดัง "ท่าน ว.วชิรเมธี" ได้แสดงความคิดเห็นในหนังสือเรื่อง "เอายังไงดีกับชีวิต?" (สำนักพิมพ์ Springbooks) ว่านักเรียนไม่ควรจะเป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะเป็น "คนดี"ด้วย เพราะเก่งอย่างเดียวไม่เป็นผลดี อาจนำความเก่งไปทำเรื่องที่เสียหายได้ ดังนั้นทางออกที่ดีที่สุดก็คือ "ต้องเป็นคนดีที่ทำงานเก่ง" หรือเป็น "คนดีที่ทำงานเป็น" และใช้ความเก่งไปในทางที่ถูกต้อง คือเป็นการใช้ความเก่งเพื่อสนองความดี หรือเป็น "คนเก่งที่เป็นคนดี" หากทำได้อย่างนี้ก็จะทำให้เป็นคนเก่งที่ใช้ความดีอย่างมีจริยธรรมกำกับ

"ค่านิยมที่ยกย่องคนเก่งมากกว่าคนดี ถือว่าเป็นค่านิยมที่วิปริตของสังคม ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะสังคมมักจะมีช่วงใดช่วงหนึ่งวิปริต ช่วงหนึ่งนิยมคนมีเงิน คนมีเงินก็จะเสียงดัง มีอำนาจ มีอิทธิพล ยุคหนึ่งนิยมปัญญาชน ปัญญาชนก็จะเสียงดัง มีอำนาจ มีอิทธิพล ยุคหนึ่งบูชาขุนศึกแม่ทัพนายกอง ทหารก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทหารได้กุมอำนาจ ในยุคหนึ่งนิยมผู้นำทางจิตวิญญาณ ผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะมีอำนาจเด่นชัดในสังคม

การที่สังคมสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง ถือเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ถ้าเป็นไปได้ เราควรให้สังคมของเรายกย่องทั้งคนเก่งและคนดี ซึ่งจะทำให้เราได้คนเก่งที่เป็นแบบอย่างทางจริยธรรม ในขณะเดียวกันก็ทำงานเป็น แต่ถ้าเลือกไม่ได้ ขอให้เราศรัทธาในคุณงามความดี โดยไม่ต้องเอาคุณงามความดีไปฝากไว้กับตัวบุคคลก็ได้ เพราะคุณงามความดีเป็นสัจธรรมสากล ไม่ขึ้นไม่ลงตามคนซึ่งมีกิเลส 

ฉะนั้น ดีที่สุดควรศรัทธาหลักการของความดี เพราะเป็นสากล และเที่ยงแท้แน่นอนที่สุด ศรัทธาในความดี เพราะจะทำให้ชีวิตมีหลักยึดที่ถูกต้อง เป็นคนดีที่เป็นคนเก่ง เพราะจะทำให้ประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสง่างาม"

ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live 



กำลังโหลดความคิดเห็น