xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษลุยบุรีรัมย์ แก้ปัญหา 11 หมู่บ้านคัดแยกขยะอันตรายขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บุรีรัมย์ - อธิบดีกรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่บุรีรัมย์ติดตามปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน 2 ตำบล รับซื้อมาคัดแยกขายเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ และเกิดมลพิษในดิน น้ำ อากาศ หลังตรวจพบสารตะกั่วในเลือดเกือบทุกราย บางรายเกินค่ามาตรฐาน ทั้งยังมีเศษซากขยะตกค้างที่ไม่สามารถกำจัดได้ พร้อมเร่งหาแนวทางแก้ไข ห่วงกระทบเป็นวงกว้าง

วันนี้ (11 มิ.ย.) นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตำบลแดงใหญ่ อ.บ้านใหญ่ไชยพจน์ และ ต.บ้านเป้า อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เพื่อติดตามปัญหาเศษซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ชาวบ้าน 11 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล กว่า 500 ครัวเรือน ได้ทำเป็นอาชีพ ทั้งเปิดร้านรับซื้อของเก่าในหมู่บ้าน

รวมถึงตระเวนรับซื้อตามบ้าน และรับเหมามาจากแหล่งโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดต่างๆ นำมาคัดแยกชิ้นส่วนก่อนนำไปขายหารายได้เสริมหลังทำนา โดยไม่มีการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธี ทำให้เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพจากสารตะกั่วที่มาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ทั้งโรคมะเร็ง ระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด และโรคอันตรายร้ายแรงอื่นๆ

จากข้อมูลรายงานของทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่าจากการสุ่มเจาะเลือดของชาวบ้านที่ทำอาชีพคัดแยกขยะมีสารตะกั่วปนเปื้อนในเลือดเกือบทุกราย บางรายมีเกินกว่าค่ามาตรฐาน โดยเฉพาะในเด็กอายุ 1-5 ขวบ

ทั้งยังพบปัญหาการลักลอบนำขยะ เศษซากขยะที่ไม่สามารถขายได้ เช่น กระจกจอทีวี โฟม ซึ่งย่อยสลายยากไปทิ้งตามป่าชุมชนใกล้หมู่บ้าน ที่ตกค้างไม่สามารถกำจัดได้นับร้อยตัน

อีกทั้งยังมีการเผาสายไฟเพื่อเอาลวดทองแดงไปขาย จนก่อให้เกิดมลพิษในดิน น้ำ และอากาศ จนชาวบ้านไม่กล้าดื่มน้ำฝนหรือจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ ต้องซื้อน้ำดื่มเพราะเกรงจะมีสารเคมีตกค้าง ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดสะสมมานานกว่า 10 ปี

จากนั้นอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ พร้อมคณะ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดที่มีการเผา หรือลักลอบนำขยะไปทิ้ง พร้อมให้เจ้าหน้าที่ทำการตรวจวัดค่ามาตรฐานดินในจุดที่มีการทิ้งและเผาขยะด้วย ซึ่งผลการตรวจพบว่ามีสารตะกั่วมากถึง 8,600 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สูงเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ถึง 20 เท่า และตรวจพบสารหนู (อาเซนิก) 191 มิลลิกรัม/กิโลกรัม สูงเกินค่ามาตรฐานกว่า 50 เท่า

นายวิเชียรกล่าวว่า ขณะนี้พบชาวบ้านที่ทำอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขายและเกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวแล้ว 2 จังหวัด คือ จ.กาฬสินธุ์ และ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอีกหลายจังหวัด ซึ่งจากการลงพื้นที่ในครั้งนี้พบว่าชาวบ้านส่วนมากยังขาดความรู้ในการป้องกันตนเอง และขาดจิตสำนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อชุมชน และสภาพแวดล้อม เชื่อว่าหากปล่อยไว้ไม่ดำเนินการแก้ผลกระทบจะแพร่กระจายเป็นวงกว้างออกไปอีกอย่างแน่นอน

ดังนั้นเบื้องต้นจะได้นำสภาพปัญหาที่ตรวจพบไปหารือร่วมกันหลายหน่วยงาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน โดยในเบื้องต้นจะให้ทางสาธารณสุขเข้ามาแนะนำดูแลเรื่องการป้องกันตนเอง ส่วนแผนระยะยาวอาจจะมีการห้ามนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ย่อยสลายยากหรือบวกค่ากำจัดไปในภาษีสินค้าชนิดประเภทดังกล่าวด้วย หรือออกเป็น พ.ร.บ.วัตถุอันตรายเพื่อแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อไป

ขณะที่ นายสุเทพ แหล่งไธสง ชาวบ้าน บ.โนนเห็ดไค ต.แดงใหญ่ ยอมรับว่า ถึงแม้จะทราบดีว่าการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ แต่ยังยืนยันจะทำอาชีพนี้ต่อไป เพราะทำมานานกว่า 10 ปีแล้ว อีกทั้งรายได้จากการรับซื้อของเก่ามาคัดแยกขายสามารถเลี้ยงครอบครัวและส่งเสียลูกเรียนได้

หลังจากที่ทาง อบต.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาแนะนำวิธีป้องกัน โดยการสวมใส่หน้ากากปิดปาก จมูก หรือสวมถุงมือ หลีกเลี่ยงไม่ให้สารต่างๆ เข้าสู่ร่างกายตนและครอบครัวก็ปฏิบัติตาม แต่ไม่รู้ว่าจะป้องกันได้มากน้อยเพียงใด








กำลังโหลดความคิดเห็น