xs
xsm
sm
md
lg

แฉขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักกาฬสินธุ์มากปีละกว่า 2 แสนตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่ต.โคกสะอาด มากกว่าปีละ 2 แสนตัน เพื่อคัดแยกนำชิ้้นส่วนที่มีมูลค่าไปจำหน่าย
กาฬสินธุ์ - เปิดโปงเส้นทางขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้าพื้นที่ ต.โคกสะอาดต่อปีกว่า 2 แสนตัน เหตุสร้างผลกำไรงามทั้งชาวบ้านและนายทุน ด้านสาธารณสุขอำเภอฆ้องชัยระบุชาวบ้านกว่าร้อยละ 80 เสี่ยงพิษสะสม โรคมะเร็งในเม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะเด็กเล็กสูดดมสารพิษ

จากการนำเสนอถึงปัญหาอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ของชาวบ้านใน ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กว่าร้อยละ 90 จำนวน 12 หมู่บ้าน และจำนวน 1,896 ครัวเรือนในตำบลนี้ยึดอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้ครอบครัวมานานกว่า 20 ปี แต่ปัจจุบันพบปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการสูดดมสัมผัสกับเศษขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งไม่มีแหล่งกำจัดขยะประเภทนี้ ขาดการเหลียวแลจากกรมอุตสาหกรรมโรงงาน ทำให้เกิดการลักลอบเผาเศษขยะจนก่อมลภาวะทางอากาศอย่างรุนแรง

นายวิจิตร มูลเอก นายก อบต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า อาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาในพื้นที่แห่งนี้กว่า 20 ปี โดยมีกลุ่มนายทุนซึ่งมีอาชีพนี้นำเข้ามาแนะนำให้ชาวบ้านเริ่มแรกเปิดร้านรับซื้อของเก่า เดิมมักจะเป็นกระดาษ พลาสติก

แต่ต่อมามีขยะอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ทั้งคอมพิวเตอร์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ เครื่องยนต์ โทรศัพท์มือถือ ที่นายทุนต้องการมาก จึงเกิดการรับซื้อแลกเปลี่ยนและเริ่มเฟื่องฟูในช่วง 4-5 ปี สามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวมากกว่าเดือนละ 15,000-20,000 บาท

“ในรายที่เริ่มมีทุนจะเปิดเป็นแหล่งรับซื้อแล้วจ้างแรงงานเข้ามาคัดแยกภายในหมู่บ้านประกอบด้วย กลุ่มคัดแยกเครื่องจักรหนักประเภทเครื่องยนต์ รถจักรยานยนต์ จะแยกเอาโลหะ ทั้งเหล็ก อะลูมิเนียม ทองเหลือง มีรายได้จากการจำหน่ายเศษโลหะ กลุ่มนี้เฉลี่ยเงินหมุนเวียนประมาณ 500,000 ถึง 1 ล้านบาท ส่วนที่สอง กลุ่มคัดแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ มีรายได้เฉลี่ยไม่แตกต่างกัน” นายวิจิตรกล่าว

นายวิจิตรกล่าวต่อว่า เส้นทางนำเข้ามาในพื้นที่แต่ละวันมีมากกว่า 200 ตันหรือมากกว่า 2 แสนตันในแต่ละปี โดยนำเข้ามา 4 วิธี 1. ชาวบ้านจะออกไปรับซื้อของเก่าเองนำมาคัดแยกขยะ 2. กลุ่มคนภายนอกผ่านการรับซื้อแล้วจะนำมาจำหน่ายอีกครั้งให้ชาวบ้านคัดแยก

3. กลุ่มนายทุนรับซื้อของเก่า และ 4. กลุ่มที่ส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ทางไปรษณีย์ ส่วนใหญ่คืออุปกรณ์มือถือ จะให้กำไรดีมาก เมื่อชำแหละชิ้นส่วนแล้วมีทั้งแผงวงจร ทองเคในเครื่องโทรศัพท์จะมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 8 พันบาท จากนั้นจะส่งต่อไปยังนายทุนกรุงเทพฯ เพื่อขายต่อไปต่างประเทศที่มีการรีไซเคิ้ล

นายวิจิตรกล่าวต่ออีกว่า ระยะหลังชาวบ้านเริ่มรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เป็นอาชีพสุจริตดีกว่าไปรับจ้างขายแรงงาน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าพื้นที่ เคยรับปากว่าจะช่วยจัดหางบประมาณจัดสร้างโรงกำจัดขยะมาให้ แต่ผ่านมา 5 ปีก็ยังไม่ได้ อบต.โคกสะอาดทำได้เพียงจัดซื้อแหล่งทิ้งขยะ ต้องการให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณเข้ามาแก้ปัญหาด้วย

ด้านนายศิริศักดิ์ บุญไชยแสน สาธารณสุขอำเภอฆ้องชัย กล่าวว่า ปัญหานี้สะสมมานาน ด้านการช่วยเหลือแก้ปัญหาสุขภาพ ทำได้เพียงการให้คำแนะนำ ให้สวมเครื่องป้องกัน ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเผาขยะโฟม เผาสายไฟเพื่อเอาลวดทองแดง ที่ก่อมลพิษทางอากาศ ทำให้ชาวบ้านเสี่ยงเจ็บป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือด เพราะสูดดม สัมผัส ที่น่าเป็นห่วงคือเด็กเล็ก จะเสี่ยงมีสารตะกั่วในเม็ดเลือด ซึ่งผลตรวจกลุ่มตัวอย่าง 129 รายของเด็กเล็กทั้งตำบล พบเลือดมีสารตะกั่วถึง 21 ราย ต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น