xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงชาวบ้านโคกสะอาดเจ็บป่วยจากพิษตะกั่ว เหตุกว่า 80% ทำอาชีพแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเกรียงไกร กิริวรรณา นายอำเภอฆ้องชัย พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจบ่อกำจัดขยะและสำรวจปัญหาสุขภาพคนในชุมชนในตำบลโคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์
กาฬสินธุ์ - นายอำเภอฆ้องชัยเร่งตรวจสอบบ่อกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดในประเทศ พบชาวบ้านในพื้นที่ตำบลโคกสะอาดเจ็บป่วยจากพิษขยะอิเล็กทรอนิกส์ เหตุกว่า 80% ทำอาชีพเก็บและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขาย ชี้ผลสุ่มตรวจเลือดกว่า 60% ปนเปื้อนสารตะกั่ว ร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข ทั้งสร้างบ่อกำจัดขยะมาตรฐานและปัญหาสุขอนามัย

วันนี้ (21 พ.ค.) ได้รับการร้องเรียนจากกลุ่มผู้นำชุมชนใน ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากการประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพบว่าประชาชนในพื้นที่ตำบลโคกสะอาดกว่าร้อยละ 67 ของคนในชุมชนนี้เกิดการเจ็บป่วยจากพิษสารตะกั่ว ทั้งจากการสูดดมและจากปัญหาบ่อขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน

ล่าสุดนายเกรียงไกร กิริวรรณา นายอำเภอฆ้องชัย พร้อมด้วยนายประสิทธิ์ไชย ผังรอดรัตน์ ปลัดอาวุโสอำเภอฆ้องชัย นายศิริศักดิ์ บุญไชยแสน สาธารณสุขอำเภอฆ้องชัย พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าสำรวจปัญหาสุขภาพคนในชุมชนพบว่า ในเขตตำบลโคกสะอาดกว่าร้อยละ 80 ชาวบ้านประกอบอาชีพคัดแยกของเก่าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่สร้างรายได้ให้ประชาชนต่อคนถึงเดือนละกว่า 15,000 บาท แต่ส่วนใหญ่จะมีปัญหาด้านสุขภาพ เพราะเสี่ยงจากพิษสารตะกั่ว

นายบุญกว้าง ม่วงมนตรี อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2 หมู่ที่ 7 บ้านน้อย ต.โคกสะอาด กล่าวว่า ตนมีอาชีพรับซื้อของเก่าและคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพื่อนำมาแยกชิ้นส่วนขาย ถือเป็นอาชีพที่สุจริตและทำกันมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งจะรับซื้อของเก่าแยกเอาเฉพาะเหล็ก อะลูมิเนียม พลาสติก และลวดตะกั่วส่งต่อนายทุนรับซื้อ

ส่วนชาวบ้านเองที่ไม่มีทุนรับซื้อจะมารับจ้างรายวัน วันละ 300 บาท โดยเหล็กกับพลาสติกเก่าสามารถขายได้กิโลกรัมละ 9 บาท อะลูมิเนียมกิโลกรัมละ 190 บาท และทองเหลืองและทองแดงกิโลกรัมละ 140 บาท

ตั้งแต่ทำอาชีพคัดแยกรับซื้อของเก่ามา ตนเสี่ยงป่วยเป็นโรคพิษภัยจากสารตะกั่วเพราะต้องรับสารพิษจากการสูดดมโดยตรง ทั้งในปัจจุบันปัญหานี้ยังเกิดจากการลักลอบเผาขยะในพื้นที่เพื่อนำตะกั่วไปขาย ทั้งยังประสบกับปัญหาการกำจัดขยะที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเกินขีดความสามารถกำจัดขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลโคกสะอาด

ด้านนายศิริศักดิ์ บุญไชยแสน สาธารณสุขอำเภอฆ้องชัย กล่าวว่า ปัญหานี้เป็นที่รับรู้ทั้งในระดับจังหวัดและส่วนกลาง จนเมื่อกลางปี 2556 ที่ผ่านมา ส่วนกลางได้ลงพื้นที่เจาะเลือดตรวจหาสารตะกั่ว มีมากกว่าร้อยละ 60 ที่ในเลือดพบสารตะกั่ว พบในเด็กมากถึง 21 ราย และจากการสุ่มตรวจผู้ใหญ่ 89 ราย พบสารตะกั่วถึง 3 ราย โดยเฉพาะเด็ก 1 รายอยู่ในขั้นอันตรายที่ต้องเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด

เป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากทุกครัวเรือนจะออกไปคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์นำไปขายสร้างรายได้ในครัวเรือน จึงเป็นเรื่องยากที่จะป้องกัน ที่ผ่านมาได้รณรงค์ แต่ยังพบว่ามีการลักลอบคัดแยกขยะโดยไร้เครื่องป้องกัน

ขณะที่นายประสิทธิ์ไชย ผังรอดรัตน์ ปลัดอาวุโสอำเภอฆ้องชัย กล่าวว่า ชาวบ้านต้องการแหล่งกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน กว่า 20 ปีที่ผ่านมาภัยจากขยะได้เพิ่มขึ้น ซึ่งชาวบ้านรับซื้อมาจากทั่วประเทศ โดยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้ามามากถึงเดือนละ 6 พันตัน หรือมากกว่า 6 หมื่นตันต่อปี ทั้งขยะที่เหลือจากการคัดแยกมีมากกว่า 2 หมื่นตันต่อปี

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือขยะที่เหลือส่วนใหญ่เป็นโฟม พลาสติก กระจก ถูกนำไปทิ้งแล้วเผา ได้สร้างมลภาวะทางอากาศเกิดขึ้น มีความจำเป็นที่หน่วยงานรับผิดชอบจากส่วนกลางจะต้องเข้ามาช่วยชาวบ้านหาทางแก้เร่งด่วน เนื่องจากอาชีพคัดแยกขยะขายกลับทำให้ชาวบ้านตายผ่อนส่ง

ด้านนายประยูร ก้อนวิมล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 3 บ.หนองบัว ต.โคกสะอาด กล่าวว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม เคยลงพื้นที่แล้วหลายครั้ง รับรู้ปัญหาทั้งหมด แต่กลับทำได้เพียงแนะนำ และรับปากว่าจะเข้ามาสร้างแหล่งกำจัดขยะให้ แต่ผ่านมากว่า 5 ปีไม่มีงบประมาณเข้ามาแก้ไขปัญหา ปล่อยให้ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย เพราะเงินการค้าขยะทำให้ชาวบ้านไม่กลัวปัญหาต่อสุขภาพ

ด้านนางสุดาภรณ์ รัตนบุดตา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองบัว กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพทำได้เพียงรณรงค์ป้องกัน ชาวบ้านต้องการให้สิ่งแวดล้อมบริเวณนี้ได้รับอากาศบริสุทธิ์ โดยกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก เริ่มมีปัญหาด้านพัฒนาการ เพราะสารพิษตะกั่ว จะเข้าไปทำลายเม็ดเลือดขาว ซึ่งศูนย์เด็กทุกแห่งในตำบลโคกสะอาด ให้การดูแลรักษาเบื้องต้นเท่านั้น ถือเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่รอรับการแก้ปัญหาจากหน่วยงานรับผิดชอบโดยเร่งด่วน

ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ขาย ทำให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารพิษตะกั่ว


กำลังโหลดความคิดเห็น