xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยแพทย์สหรัฐฯ ชี้ สูดดมมลพิษบนท้องถนนมากๆ อาจเสี่ยงเป็น “โรคหัวใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ - งานวิจัยชิ้นสำคัญของมหาวิทยาลัยแพทย์แห่งหนึ่งชี้ว่า มลภาวะทางอากาศบนท้องถนน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ขับขี่ยวดยานพาหนะหลายล้านคนต้องเผชิญในชั่วโมงเร่งด่วนวันละสองครั้ง อาจส่งผลให้หัวใจมีขนาดเปลี่ยนแปลงจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยศูนย์การแพทย์วอชิงตัน พบว่า การสัมผัสสารพิษจากรถยนต์เป็นเวลานานๆ อาจทำให้หัวใจห้องล่างขวามีมวลและปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หัวใจล้มเหลว และภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยตรง

กลุ่มตัวอย่างของงานวิจัยทั้งหมด 3,896 คน ได้รับสารไนโตรเจนไดออกไซด์เข้าสู่ร่างกายในระดับหนึ่ง โดยก๊าซดังกล่าวเกิดจากการกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง และมีลักษณะคล้ายกับสารพิษที่ฟุ้งกระจายไปทั่วท้องถนนที่มีการจราจรติดขัด โดยกลุ่มตัวอย่างได้ผ่านการทำเอ็มอาร์ไอสแกน ทั้งก่อนและภายหลัง การศึกษาค้นคว้าที่ใช้เวลานาน 12 เดือน

ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า หัวใจห้องล่างขวามีมวลเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5 เปอร์เซ็นต์ และปริมาณเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าคณะผู้วิจัยจะได้พิจารณาถึงรายละเอียดต่างๆ อย่างเช่น อาการที่เป็นก่อนหน้านี้ อาหารการกิน หรือสถานะทางเศรษฐกิจสังคม

นพ.ปีเตอร์ เลียรี ผู้เขียนงานวิจัยฉบับนี้กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับที่ร้ายแรงพอที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ และเกิดภาวะหัวใจวาย ได้อย่างมาก

“แม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับว่า มลภาวะทางอากาศบนท้องถนนมีส่วนทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายโตเกิน, หัวใจวาย และเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนว่า การสูดดมสารพิษจากท่อไอเสียจะส่งผลกระทบต่อหัวใจห้องล่างขวาเช่นไร” เขาระบุ

เมื่อทดลองใช้การสูดดมสารไนโตรเจนไดออกไซด์ แทนการสัมผัสมลภาวะทางอากาศบนท้องถนน เป็นครั้งแรกที่เราสามารถอธิบายได้ว่า การสัมผัสสารพิษในปริมาณมากขึ้น มีความเชื่อมโยงกับการที่มวลของหัวใจห้องล่างขวา และปริมาณในหัวใจขณะคลายตัวตอนสุดท้าย (Right Ventricular end-diastolic volume) เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่หัวใจห้องล่างขวามีมวลเพิ่มขึ้นก็มีส่วนทำให้เสี่ยงเข้าสู่สภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตเพราะโรคหัวใจและหลอดเลือด

ขณะที่คณะนักวิจัยยังไม่สามารถยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า การสัมผัสสารพิษจากท่อไอเสียรถยนต์อาจทำให้มวลหัวใจเพิ่มขึ้น นพ.เลียรีกล่าวว่า การศึกษาของเขาช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับหลักฐานที่บ่งชี้ว่า การจราจรติดขัดมีความเกี่ยวพันกับโรคหัวใจ

เขาเน้นย้ำว่า “การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับหัวใจห้องล่างขวา เมื่อสูดดมก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์เข้าไปมากขึ้น ได้เพิ่มน้ำหนักให้แก่หลักฐานที่ชี้ว่า มลภาวะทางอากาศจากการจราจรมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด”

“การพบว่ามลภาวะทางอากาศมีโทษต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างมากมาย จะช่วยให้มีความพยายามหาทางลดมลพิษกันต่อไป”

กำลังโหลดความคิดเห็น