xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ นำเสวนาถกทางออกชาวนาพิจิตร หลังสิ้นยุค “จำนำข้าว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร - พ่อเมืองชาละวันนำทีมองค์กรปกครองส่วนภูมิภาค-ท้องถิ่น พร้อมนักการเกษตรตั้งวงเสวนาหาทางออกให้ชาวนาพิจิตร หลังส่อหมดยุค “จำนำข้าว” แนะฟื้นเกษตรธรรมชาติ-ปลูกข้าวพันธุ์ดี พร้อมแจกพันธุ์ข้าวทุกตำบลเพาะให้ชาวนา

วันนี้ (8 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าฯ พิจิตร และนายชาติชาย เจียมศรีพงษ์ นายก อบจ., นายเดชา ศิริภัทร มูลนิธิข้าวขวัญจากจังหวัดสุพรรณบุรี, นายธีระ วงศ์เจริญ ประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ, น.ส.สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สังคมสุขภาพ จำกัด หรือบริษัท เลม่อนฟาร์ม ผู้ส่งออกเกษตรอินทรีย์ ได้ร่วมกันจัดประชุมในทางวิชาการที่วิทยาลัยชุมชนพิจิตร อ.โพทะเล จ.พิจิตร

โดยมีแกนนำชาวนา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต. และนายกเทศมนตรีในพื้นที่ เข้าร่วมวงเสวนาเพื่อถกถึงปัญหาว่าในฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวเปลือกนาปี 57/58 แน่ชัดแล้วว่าจะไม่มีโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

ผู้ร่วมเสวนาต่างให้ความเห็นว่า ชาวนาพิจิตรจะต้องเตรียมรับมือด้วยการปลูกข้าวพันธุ์ดีเพื่อกิน-ขาย เป็นข้าวปลอดสารพิษที่ตลาดต้องการ ไม่ใช่ปลูกข้าวด้อยคุณภาพ เน้นปริมาณเพื่อจำนำเพียงอย่างเดียว

ผู้ว่าฯ พิจิตรให้นโยบายว่า ทุก อบต. และทุกเทศบาลต้องทำ 1 แปลงนาอย่างน้อย 1 ไร่ใน 1 ตำบล เพื่อเพาะข้าวพันธุ์ดีให้เป็นแปลงขยายเมล็ดพันธุ์แจกจ่ายให้แก่ชาวนา พร้อมกับแจกพันธุ์ข้าวเหลืองอ่อนนาปรังให้ตำบลละ 15 กิโลกรัมอีกด้วย

น.ส.สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการบริษัทสังคมสุขภาพ จำกัด หรือบริษัท เลม่อนฟาร์ม ผู้รับซื้อผลผลิตทางด้านการเกษตร บรรยายให้ชาวนาพิจิตรฟังว่า ตลาดการซื้อข้าว ยังคงมีแนวโน้มเจริญเติบโตได้อีก แต่สินค้าข้าวต้องเป็นข้าวปลอดสารพิษที่ตลาดโลกต้องการจึงจะสู้กับคู่แข่งได้ รวมถึงชาวนาต้องลงมือลงแรงทำนาด้วยตนเอง ใช้แรงงานหรือเครื่องจักรที่ลงมือทำนาโดยคนในครอบครัวให้มากที่สุด เพื่อจะได้ลดต้นทุนค่าแรง และควรใช้สารชีวภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืช-เพิ่มผลผลิต

ขณะที่นายชาติชายกล่าวว่า 10-15 ปีที่ผ่านมาการทำนาของชาวนาพิจิตรถูกกำหนดโดยนโยบายของรัฐบาล ไม่ได้เป็นไปตามวิถีชีวิต เช่น รัฐบาลกำหนดราคา กำหนดการจ่ายน้ำขยายพื้นที่ชลประทานทำให้มีการทำนาแข่งขันในเชิงปริมาณเพื่อแย่งชิงโอกาสในการจำนำข้าว ใช้ทั้งปุ๋ย ใช้ทั้งยา ใช้ทั้งสารเคมี เพื่อให้เกี่ยวข้าวเร็วๆ ได้ปริมาณมากๆ เพียงเพื่อเอาไปจำนำ

แต่สุดท้ายคนทำนาก็รับสารพิษป่วยตายก่อนวัยอันควร คนกินข้าวก็ตกอยู่ในสภาพเช่นเดียวกับคนทำนา และข้าวเหล่านี้ก็ส่งออกไปแข่งขันกับตลาดข้าวนานาชาติไม่ได้ เพราะข้าวสารของไทยไม่มีคุณภาพทางคุณค่าอาหาร แถมยังมีสารพิษที่ตกค้าง

ดังนั้นจึงต้องทบทวนกันว่าต่อไปนี้จะต้องฟื้นวิถีชีวิตการทำนาแบบกสิกรรมธรรมชาติ และการทำนาตามแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ของ ในหลวง รวมถึงจะต้องอนุรักษ์ และขยายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของพิจิตรที่เป็นข้าวนาปี 100% เช่น “ข้าวขาวกอเดียว” ที่มีชื่อเสียงและปลูกกันมากในแถบ อ.บางมูลนาก มีคุณภาพไม่แพ้ “ข้าวเสาไห้สระบุรี” รวมถึงข้าว 5% อย่างข้าวหลวงพระราชทาน ข้าวขาวตาแห้ง ข้าวเหลืองอ่อน ข้าวเหลืองประทิว

“ถ้าปลูกข้าวพันธุ์ดีแบบนี้ตามแนวเกษตรอินทรีย์ก็เชื่อมั่นว่าผลผลิตจะถูกปากถูกใจผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สู้กับตลาดการค้าโลกและสู้กับตลาด AEC ได้อย่างแน่นอน”


กำลังโหลดความคิดเห็น