xs
xsm
sm
md
lg

สำนักศิลปากรที่ 3 อยุธยาเตรียมบูรณะซ่อมแซมเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล หลังตรวจสอบพบเอียงจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พระนครศรีอยุธยา - ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล พระนครศรีอยุธยา วอนกรมศิลป์เร่งซ่อมแซมเจดีย์ของวัดใหญ่ชัยมงคล หลังพบเจดีย์เอียงจริง ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เผยขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินการบูรณะซ่อมแซม คาดว่าใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

จากกรณี นายเมธาดล วิจักขณะ ผอ.สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยถึงการโน้มเอียงของเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล ต.คลองสวนพลู อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา จากตำแหน่งเดิม 3 องศาวัดจากแกนกลาง ทำให้มีการสไลด์ของยอดเจดีย์ห่างออกไปจากแกนกลางถึง 1.80 - 2 เมตร ซึ่งถือว่าเป็นอันตราย ทางวิศวกรรมจึงเร่งให้มีการวางแนวทางในการป้องกันการเอียงนั้น

วันนี้ (17 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังวัดใหญ่ชัยมงคล พบประชาชนและนักท่องเที่ยวที่ทราบข่าวต่างเดินทางมาเที่ยวชมองค์เจดีย์ บางคนได้ถ่ายภาพเจดีย์ที่มองเห็นการเอียงได้จากนอกวัด ซึ่งส่วนใหญ่ยืนยันว่าเจดีย์เอียงจริง โดยนายอนุพงศ์ คงกล่อม ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียง กล่าวว่า พาหลานๆ จากกรุงเทพฯมาเที่ยวไหว้พระบ่อยครั้ง

โดยเฉพาะช่วงเย็น จะมีโอกาสมาเดินเล่นที่สวนหย่อมของวัดบ่อยครั้ง เนื่องจากบ้านพักอยูไม่ห่างจากวัด และสังเกตเห็นว่ายอดเจดีย์มีความเอียงเพิ่มขึ้นจริง จึงอยากให้ทางวัดเร่งซ่อมแซม

ขณะที่เจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยวไก่ฉีก อยู่ตรงข้ามกับวัดใหญ่ชัยมงคล เปิดเผยว่า ขายก๋วยเตี๋ยวมานานหลายปี ตนมองเจดีย์เกือบทุกวัน และสังเกตเห็นว่าเจดีย์มีการโน้มเอียงออกไปทางทิศตะวันตกมากขึ้น อยากให้ทางกรมศิลปากรหรือทางวัดเร่งซ่อมแซม เพราะไม่รู้ว่าจะมีการพังทลายหรือล้มเมื่อใด

ด้าน พระมหาสำรอง ชยธัมโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดใหญ่ชัยมงคล กล่าวว่า อาตมาสังเกตเห็นเจดีย์เอียงมากกว่าเดิมมานานแล้ว และพบว่ามีการเอียงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ทราบว่าจะบอกใคร เมื่อมีข่าวว่าทางกรมศิลปากรทราบเรื่องแล้วก็อยากให้เร่งมาตรวจสอบ และดูว่าจะมีผลกับการขึ้นลงของนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปบนองค์เจดีย์หรือไม่

นายเมธาดล วิจักขณะ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินการบูรณะซ่อมแซม ซึ่งมอบให้ นายธเนศ วีระศิริ อดีตเลขานุการวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เป็นผู้วางแผนการซ่อมแซมโดยมีการจัดทีมร่วมกับทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่ง นายธเนศ เป็นหนึ่งในทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านโครงการอาคารสถาปัตยกรรมอย่างมาก เคยยกตัวโบราณสถาน 100 ปี ภายในโรงเรียนราชินี มาแล้ว ซึ่งสามารถยกขึ้นถึง 1 เมตรเศษในครั้งนั้น เพื่ออนุรักษ์จนอยู่ถึงปัจจุบัน

สำหรับการวางแนวทางที่จะบูรณะในครั้งนี้ จะต้องวิเคราะห์สาเหตุการทรุดตัวว่า น่าจะมาจากดินทรุดตัว จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 54 หรือจากแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวเมื่อสองสับดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่จะต้องทำคือการเสริมความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งเท่าที่ประเมินการเอียงของเจดีย์ยังมาจากมวลเจดีย์ที่อิฐปูนมีการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกตามแรงโน้มถ่วงโลก ต้องทำการหยุดการเคลื่อนตัว โดยการนำโครงเหล็กเข้าไปไว้ในตัวขององค์เจดีย์ด้วยวิธีการทางวิศวกรรม ซึ่งจะไม่มีการยกองค์เจดีย์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งการซ่อมแซมหรือบูรณะนั้นก็จะไม่ได้ทำให้ยอดเจดีย์ตั้งตรงแต่เป็นการหยุดการเอียงเพิ่มขึ้น

นายเมธาดล กล่าวต่อด้วยว่า หากไม่มีการซ่อมแซมหรือบูรณะเจดีย์ก็อาจจะพังลงมาลักษณะเหมือนการพังทลายของพระปรางค์วัดมหาธาตุ เมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 หรือ 100 ปีมาแล้ว ซึ่งจะพังจากยอดลงมาแล้วทรุดตัวลงมากองกับพื้น ขณะนี้ยังพยากรณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่อธิบดีกรมศิลปากร ได้มอบหมายให้นายธเนศ และสำนักสถาปัตยกรรมกรมศิลปากร ซึ่งเป็นทีมที่เคยเข้าไปเสริมความแข็งแรงมาครั้งหนึ่งเมื่อปี 2518 โดยมีแบบอยู่แล้ว ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ในการประเมินและวางแนวทางการซ่อมและหากลงมือซ่อมจริงคาดว่าใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

ส่วนเรื่องการขึ้นลงของนักท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบหรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ในขณะนี้ ต้องรอให้วิศวกรมาตรวจสอบอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องบูรณะทั้งองค์เจดีย์ เนื่องจากพบว่าบันไดทางขึ้นก็มีการสึกกร่อนอย่างมาก โดยจะมีการนำอิฐที่เผาในลักษณะเดียวกับอิฐอยุธยามาปูใหม่ โอกาสเดียวกันนี้ก็จะตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของพระปรางค์ในโบราณสถานสำคัญอื่นๆ เช่น วัดมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น