xs
xsm
sm
md
lg

ปิดซ่อมพระปรางค์วัดอรุณฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปิดพระปรางค์วัดอรุณฯ ซ่อมใหญ่ ถือฤกษ์บ่าย 3 โมง 24 กันยายน บวงสรวง คาดใช้เวลา 3 ปีซ่อมเสร็จ ด้านวัดอรุณฯ ห่วงช่วงฝนตกหนัก ลมแรง ฐานปรางค์ใหญ่ เนื้ออิฐเปื่อยยุ่ย กระเบื้องกร่อน ขอเจ้าหน้าที่ช่วยตรวจฐานราก อ้อน ททท.ช่วยทำโมเดลจำลองสูง 4 เมตร ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ในส่วนที่ปิดห้ามเข้า

วานนี้ (19 ก.ย.) พระศากยปุตติยวงศ์ (ต่อศักดิ์ สุนฺทรวาที) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากการที่วัดอรุณฯ และกรมศิลปากร ตรวจพบความทรุดโทรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ ทั้งเรื่องของเชื้อรา และการเปื่อยยุ่ยของเนื้อปูน รวมถึงประสบภัยธรรมชาติ น้ำท่วม และฟ้าผ่าจนทำให้คอม้าหักลงมานั้น ขณะนี้ ทางวัดอรุณฯ และกรมศิลปากร ได้รับงบประมาณประจำปี 2556 -2558 จำนวน 130 ล้านบาท มาดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ พระปรางค์วัดอรุณฯ ทั้งพระปรางค์องค์ประธาน และปรางค์ประกอบทั้งหมด ครั้งใหญ่ในรอบ 14 ปี ซึ่งซ่อมครั้งล่าสุดเมื่อปี 2542 ดังนั้น จะเห็นได้ว่า รอบของการบูรณะอายุจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง รวมถึงวัสดุของการบูรณะที่เปลี่ยนไปตามยุคด้วย

พระศากยปุตติยวงศ์ กล่าวว่า วัดอรุณฯ จะเริ่มบูรณะองค์พระปรางค์ตั้งแต่ปลายเดือน กันยายน 2556 เป็นต้นไป โดยวันที่ 24 กันยายน นี้ เวลา 15.00 น.วัดอรุณฯ และกรมศิลปากร จะทำพิธีบวงสรวง และเปิดป้ายโครงการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ อย่างเป็นทางการ โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน สำหรับการบูรณะจะแบ่งงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ปี 2556 อนุรักษ์ปรางค์ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ใต้ มณฑปทิศใต้และตะวันตก ในปีงบประมาณ 2557-2558 อนุรักษ์ปรางค์ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ใต้ มณฑปทิศเหนือ-ตะวันออก และพระปรางค์ประธาน ทั้งนี้ ทางวัดจะตั้งนั่งร้าน และปิด บริเวณด้านทิศตะวันตก รวมถึงมีป้ายเตือนนักท่องเที่ยวในบริเวณที่ห้ามเข้าเพื่อความปลอดภัย แต่ยังคงเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมทางฝั่งทิศตะวันออก และยังคงถ่ายรูปพระปรางค์ประธานได้ตามปกติ

ในการบูรณะครั้งนี้ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบูรณะด้วย โดยเฉพาะในส่วนของนั่งร้านจะเป็นนั่งร้านที่นำมาใช้ในการบูรณะโบราณสถานเป็นครั้งแรก เป็นนั่งร้านที่จะตั้งขึ้นโดยรอบองค์พระปรางค์ และจะไม่มีชิ้นส่วนของนั่งร้านสัมผัสกับองค์พระปรางค์เลย ซึ่งแตกต่างจากนั่งร้านโดยทั่วไปที่จะมีบางส่วนสัมผัสกับโบราณสถานซึ่งอาจจะจะสร้างความเสียหายให้โบราณสถานได้ พร้อมกันนี้ทางวัดจะประสานกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อจัดสร้างโมเดล พระปรางค์วัดอรุณ ขนาดย่อส่วนสูง 4 เมตร เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นว่า มีรูปแบบเช่นไร

“การบูรณะจะคงใช้วัสดุของเดิมไว้ให้ได้มากที่สุด และเป็นที่ยินดีว่า กรมศิลปากร ยังเก็บกระเบื้องของเก่าที่เหลือเมื่อครั้งบูรณะในปี 2542 ไว้ นำมาใช้ในการบูรณะครั้งนี้ได้ จะนำมาทดแทนชิ้นส่วนที่มีสภาพทรุดโทรมมาก ล่าสุดจากการสำรวจระหว่างการตั้งนั่งร้าน พบว่า ก้อนอิฐ และแผ่นกระเบื้องบริเวณฐานพระปรางค์ประธาน มีสภาพเปื่อยยุ่ยและกร่อนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจะขอให้ทางกรมศิลปากร ช่วยตรวจสอบฐานรากและความมั่นคงขององค์พระปรางค์ประธานด้วย เนื่องจากเราไม่รู้ว่า ฐานรากและภายในจะทรุดโทรมมากแค่ไหน”ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณฯ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น