พระนครศรีอยุธยา - ผู้ว่าฯ พระนครศรีอยุธยา ลงพื้นที่วัดไชยวัฒนารามตรวจสอบการติดตั้งแผ่นบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วมบริเวณหน้าวัด คาดใช้เวลา 3 วันเสร็จ เผยขณะนี้อยุธยาจมน้ำแล้ว 27 ตำบล เดือดร้อน 5,100 ครัวเรือน ขณะเจ้าหน้าที่ตั้งเต็นท์บนถนนคันคลองชนประทาน เป็นจุดให้บริการประชาชนหนีน้ำ
เมื่อเวลา 12.30 น. วันนี้ (20 ก.ย.) ที่หน้าวัดไชยวัฒนาราม ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้เดินทางไปตรวจสอบการติดตั้งแผ่นบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วมบริเวณหน้าวัดไชยวัฒนาราม ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญ
นายวิทยา เปิดเผยว่า จากฝนที่ตกเหนือจังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วงนี้ ได้ส่งผลให้น้ำไหลลงมาในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทำให้ปริมาณน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงได้เร่งให้เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ติดตั้งบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วมวัดไชยวัฒนารามอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยวันละ 20-30 ซม.โดยเฉพาะหน้าวัดไชยวัฒนาราม ระดับน้ำเหลืออีก 60 ซม.
“สำหรับการแผ่นบังเกอร์ป้องกันน้ำท่วม การติดตั้งจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน และในเร็วๆ นี้ คณะกรรมการเกี่ยวกับมรดกโลกจะเดินทางมาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อมาดูแผนงานการป้องกันน้ำท่วมโบราณสถาน”
สำหรับวัดไชยวัฒนาราม ได้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2173 โดยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นบนที่ที่เป็นบ้านเดิมของพระองค์ เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายพระราชมารดา แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า วัดนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือนครละแวก โดยจำลองแบบมาจากปราสาทนครวัด
วัดไชยวัฒนาราม มีปรางค์ประธาน และปรางค์มุมอยู่บนฐานเดียวกัน พระปรางค์ประธานนำรูปแบบของพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นมาก่อสร้าง แต่ปรางค์ประธานที่วัดไชยวัฒนาราม ทำมุขทิศยื่นออกมามากกว่า บนยอดองค์พระปรางค์ใหญ่อาจเคยประดิษฐานพระเจดีย์ขนาดเล็ก สื่อถึงพระเจดีย์จุฬามณีบนยอดเขาพระสุเมรุ รอบพระปรางค์ใหญ่ล้อมรอบไปด้วยระเบียงคตที่เดิมนั้นมีหลังคา ภายในระเบียงคต ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยที่เคยลงรักปิดทองจำนวน 120 องค์ เป็นเสมือนกำแพงเขตศักดิ์สิทธิ์ ตามแนวระเบียงคตตรงทิศทั้งแปดสร้างเมรุทิศ และ เมรุมุม (เจดีย์รอบๆ พระปรางค์ใหญ่) ภายในเมรุทุกองค์ประดิษฐานพระพุทธรูป ภายในซุ้มเรือนแก้วล้วนลงรักปิดทอง ฝ้าเพดานทำด้วยไม้ประดับลวดลายลงรักปิดทองเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และต่อเนื่อง ทำให้เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ต้องเร่งระบายน้ำเหนือลงท้ายเขื่อนมากกว่า 1,650 ลบ.ม./วินาที ถือเป็นจุดวิกฤตสำหรับพื้นลุ่มต่ำในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งล่าสุด เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในหลายอำเภอสูงมากกว่า 1 เมตร ประชาชนเดือนร้อนเพราะน้ำท่วม ชุมชน และถนนเข้าหมู่ออกหมู่บ้าน โดยระดับน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องวันละ 20-30 เซ็นติเมตร
นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด กล่าวว่า น้ำท่วมชุมชนติดแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่นำน้อยใน 3 อำเภอแล้ว ได้แก่ อ.บางบาล เสนา และ อ.ผักไห่ รวม 27 ตำบล 152 หมู่บ้าน 5,100 ครัวเรือน
ด้านพระครูสุทธิปัญญาโสภณ เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง ได้ออกมาเรียกร้องขอให้กรมชลประทานเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริงของการปล่อยน้ำในปัจจุบัน และอนาคตว่ามีจำนวนเท่าใด เพราะเชื่อว่าตัวเลขที่แจ้งระบุนั้นน้อยกว่าปริมาณการปล่อยน้ำจริง
คลิกเพื่อชมคลิป